หลายฝ่ายเป็นห่วงโครงการ “ลงเรือ-ขึ้นเครื่อง” ของกรมเจ้าท่า ทั้งผลกระทบสิ่งแวดล้อม ไม่คุ้มค่าการลงทุน

โพสเมื่อ : Thursday, November 29th, 2018 : 6.48 pm

หลายฝ่ายเป็นห่วงโครงการ “ลงเรือ-ขึ้นเครื่อง” ของกรมเจ้าท่า ศึกษาก่อสร้างท่าเรือสนามบินภูเก็ต สร้างทางเลือกการเดินทางให้นักท่องเที่ยว ทั้งผลกระทบสิ่งแวดล้อม ไม่คุ้มค่าการลงทุน ให้บริการได้แค่ 6 เดือน

เมื่อเวลา 09.00 น.วันนี้ (29 พ.ย.) ที่ศาลาประชาคมจังหวัดภูเก็ต นายสุพจน์ รอดเรือง ณ หนองคาย รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมปัจฉิมนิเทศน์โครงการ (สัมมนาครั้งที่ 3) โครงการศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบท่าเทียบเรือโดยสารเพื่อการท่องเที่ยวบริเวณสนามบินภูเก็ต หรือ โครงการลงเรือ-ขึ้นเครื่อง ซึ่งเป็นโครงการที่กรมเจ้าท่าได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาทำการศึกษาความเป็นไปได้โครงการลงเรือ-ขึ้นเครื่อง เพื่อสร้างทางเลือกในการเดินทางจากสนามบินไปยังที่พักและแหล่งท่องเที่ยวทางฝั่งตะวันตกของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาภูเก็ตผ่านสนามบิน รวมถึงการเป็นการแก้ปัญหาการจราจรติดขัด โดยมีนางจุฑามาศ อัชกุล วิศวกรโยธาชำนาญการ กรมเจ้าท่า หน่วยงานภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากโครงการ เข้าร่วม

โดยกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งประกอบด้วย บริษัท เซ้าท์อี๊สท์เอเชียเทคโนโลยี่ จำกัด บริษัท นิวแอสเซท แอดไดเซอรี่ จำกัด บริษัท ออโรร่า เทคโนโลยี่ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนส์ จำกัด และบริษัท ยูพลัส คอนซัลแตนส์ จำกัด ได้ทำการศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบท่าเรือโดยสารเพื่อการท่องเที่ยวบริเวณสนามบินภูเก็ต (ลงเรือ-ขึ้นเครื่อง) โดยมีการศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ วิศวกรและสิ่งแวดล้อม และสำรวจออกแบบท่าเทียบเรือโดยสารเพื่อการท่องเที่ยวบริเวณสนามบินภูเก็ต ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมไปถึงการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

จากผลการศึกษาท่าเทียบเรือจุดเริ่มต้นสนามบินภูเก็ต จุดที่เหมาะสมที่สุด คือ ที่ราชพัสดุบริเวณใกล้กับศูนย์ควบคุมการบินภูเก็ต มีความยาวประมาณ 200 กว่าเมตร ซึ่งอยู่ในอุทยานแห่งชาติสิรินาถ ส่วนท่าเทียบเรือปลายทางมีทั้งหมด 3 ท่าเรือ ประกอบด้วย ที่หาดป่าตอง หาดกมลา หาดกะตะ-กะรน ผลการศึกษายังระบุอีกว่า เรือที่ใช้ในการให้บริการนั้น จะต้องเป็นเรือ Catamaran ขนาดใหญ่พอที่จะบรรจุผู้โดยสารได้ 150 คน มีความเร็วมากกว่าการเดินทางทางรถยนต์ และมีความปลอดภัยสูง ให้บริการวันละ 4 เที่ยว ตั้งแต่เวลา 07.00 – 18.00 น. ทุกวัน ส่วนเส้นทางการเดินเรือ มี 2 เส้นทาง คือ สนามบินภูเก็ต – ป่าตอง และ เส้นทางสนามบิน – กมลา – ป่าตอง – หาดกะตะ-กะรน

ผลการศึกษาระบุอีกว่า โครงการลงเรือ-ขึ้นเครื่องนั้น มีความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐศาสตร์ แต่ไม่มีความคุ้มค่าทางด้านการเงิน และการลงทุนนั้นจะต้องลงทุนก่อสร้างท่าเรือทั้ง 4 แห่ง คือ สนามบินภูเก็ต หาดกมลา หาดป่าตอง และหาดกะตะ-กะรน ลงทุนโดยรัฐให้สัมปทานเอกชนดำเนินการ โดยเรือโดยสารดังกล่าวจะให้บริการได้ปีละ 6 เดือน ในช่วงไฮซีชั่น ตั้งแต่เดือน พ.ย.-เม.ย.เท่านั้น เนื่องจากในช่วงมรสุมคลื่นลมแรงไม่มีความปลอดภัย และคาดการณ์ผู้โดยสารที่จะใช้บริการปีละไม่ต่ำกว่า 370,000 คน

ส่วนผลกระทบสิ่งแวดล้อม อาจะกระทบบ้างในแง่ของการปรับสภาพพื้นที่ชายหาดในช่วงการก่อสร้างที่ต้องมีการปรับพื้นที่ รวมไปถึงตะกอน เป็นต้น แต่ได้มีแนวทางในการแก้ปัญหาไว้แล้ว

อย่างไรก็ตาม ผู้เข้าร่วมประชุมได้แสดงความห่วงใยและกังวลในหลายประเด็นด้วยกัน และเห็นว่าโครงการไม่มีความเหมาะสมในหลายๆด้าน ทั้งความไม่คุ้มค่าการลงทุน ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โอกาสและความเป็นไปได้ของโครงการ ฯลฯ

นางเฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง กล่าวว่า อยากจะให้มองถึงความคุ้มค่าที่เกิดขึ้นจากโครงการกับความผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม หากฟังจากข้อมูลที่บริษัทที่ปรึกษานำเสนอนั้น จะเห็นว่าโครงการไม่มีความคุ้มค่าทางการเงิน ตัวเลขผู้ที่ใช้บริการก็ไม่ได้สูงมาก ปีละ 3 แสนกว่าคนเท่านั้น และการให้บริการทำได้เพียง 6 เดือน และหากจุดหมายจริงๆ ของโครงการนี้เพื่อแก้ปัญหาการจราจรที่หนาแน่นของภูเก็ตจนบางครั้งทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางไม่ทันขึ้นเครื่องบิน สร้างทางเลือกให้เดินทางทางเรือ ทางรัฐบาลก็น่าที่จะสนับสนุนการแก้ปัญหาด้านการจราจรของภูเก็ตในโครงการแก้ปัญหาการจราจรที่กำลังมีการผลักดันกันอยู่ในขณะนี้ ทั้งโครงการรถไฟฟ้ารางเบา การก่อสร้างถนนเส้นทางใหม่ รวมไปถึงอุโมงค์ป่าตอง และการขยายเส้นทางทางฝั่งตะวันตกของภูเก็ตให้สะดวกอีกขึ้น

เรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ตัวแทนจากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ตมองเป็นห่วง และเสนอกับทางผู้ศึกษาว่าหากโครงการดังกล่าวมีผลกระทบต่อการกัดเซาะชายฝั่งก็ควรที่จะยุติโครงการ

รวมไปถึงความเป็นไปได้ของโครงการ ที่ให้บริการได้ปีละ 6 เดือนเท่านั้น เพราะในช่วงมรสุมคลื่นลมแรงมาก จะเกิดอันตรายต่อการให้บริการได้