ผล DNA ยะนุ้ยออกแล้วเป็นจระเข้น้ำเค็ม 100% รอกรมประมงจัดการต่อ

โพสเมื่อ : Tuesday, September 18th, 2018 : 4.09 pm

ผลตรวจ DNA จระเข้ยะนุ้ย  ออกแล้ว พบว่าเป็นจระเข้น้ำเค็ม  รอกรมประมง ข้อยุติในการดูแลจระเข้ยะนุ้ย ให้เกิดความเหมาะสมต่อไป ยืนยันไม่มีที่มาจากธรรมชาติแต่เกิดจากการแอบเลี้ยง

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 18 กันยายน 2561 ที่ห้องประชุม ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการแถลงข่าวโครงการผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พบสื่อมวลชน ครั้งที่ 11/2561 โดยมี นายสนิท ศรีวิหค รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นางบุษยา ใจเปี่ยม ประชาสัมพันธ์ จังหวัดภูเก็ต หัวหน้าส่วนราชการ  นายโกวิทย์  เก้าเอี้ยน ประมงจังหวัดภูเก็ต เข้าร่วม

นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต  กล่าวถึงการตรวจสอบหาสายพันธ์ จระเข้ยะนุ้ย ซึ่งเป็นจระเข้ ที่ชาวบ้านพบว่ายน้ำอยู่ในทะเลบริเวณหาดยะนุ้ย ต.ราไวย์ จ.ภูเก็ต ก่อนที่จะว่ายไปยังขายหาดต่างๆตลอดแนว สุดท้ายทางเจ้าหน้าที่สามารถจับตัวได้ที่บริเวณหาดลายัน ต.เชิงทะเล จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 28 ก.ค.ที่ผ่านมา ว่า หลังจากที่เจ้าหน้าที่จับจระเข้ตัวดังกล่าวได้ก็นำมาตรวจสอบและดูแล รวมทั้งเก็บ DNA ไปตรวจสอบหาสายพันธ์ที่แท้จริง ปรากฏว่าจากการตรวจสอบ พบว่าเป็นจระเข้ยะนุ้ยเป็น จระเข้น้ำเค็มแท้ ซึ่งขระนี้ทางจังหวัดทำได้เพียงเพียงเรื่องของการดูแล ส่วนจะจัดการกับจระเข้ตัวดังกล่าวอย่างไร ทางกรมประมงจะเป็นผู้ดำเนินการ ว่าจะนำจะเข้ไปไว้ที่ใด ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจของจังหวัด

ด้าน นายโกวิทย์  เก้าเอี้ยน ประมงจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ตามที่สถานีวิจัยและพัฒนาประมงทะเลจังหวัดระนอง ได้ส่งเจ้าหน้าที่มาดำเนินการตรวจสอบ ลักษณะภายนอกของจระเข้ยะนุ้ย ที่จับได้ พบว่าตัวจระเข้ตัวดังกล่าวในภาพรวมเป็นจระเข้ เพศเมีย ลักษณะจะงอยปากแคบแหลม,มีสันบนดั้งจมูกชัดเจนเกล็ดท้ายทอยมีขนาดเล็กเกล็ดข้างลำตัวมีขนาดเล็ก,เท้าหลังมีแผ่นหนังขนาดใหญ่ระหว่างนิ้วเท้า 2 นิ้วสุดท้าย แต่พบลักษณะเกล็ดข้างตัวที่มีขนาดใหญ่กว่าเกรดทั่วไปเล็กน้อย 2 แถว ซึ่งอาจเป็นลักษณะความ ผันแปร ของเกล็ด หรือเกิดจากการผสมข้ามชนิดกับจระเข้น้ำจืด(hybrid C.porosus x C.siamensis)

ซึ่งจำเป็นต้องมีการตรวจสารพันธุกรรมเพื่อยืนยันต่อไป,จระเข้ดังกล่าวมีสุขภาพที่ดีแข็งแรงมีการตอบสนองเมื่อถูกกระตุ้นทันที ,พบมีบาดแผลเล็กน้อยซึ่ง เกิดระหว่างการจับและขนย้ายและแผลสดใหม่ที่เกิดจากการดิ้นในบ่อปูน ก่อนการตรวจสอบลักษณะเพื่อจำแนกชนิดซึ่งได้ให้ยารักษาแผลหลังการตรวจสอบเสร็จสิ้นแล้ว  ข้อสังเกตอื่นๆจากจระเข้ตัวนี้ คือ มีตะไคร่น้ำขึ้นทั้งบริเวณหัวลำตัวและหางทั้งด้านบนและด้านข้างซึ่งสันนิษฐานว่าจระเข้ตัวดังกล่าวเคยอยู่ในแหล่งน้ำนิ่งเป็นเวลานานมาก่อนที่จะออกสู่ทะเล ซึ่งลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นยากมากในจระเข้ธรรมชาติ แต่พบได้เสมอในจระเข้ที่อยู่ในที่เลี้ยง

นอกจากนั้นจระเข้ตัวดังกล่าวกินโครงไก่เป็นอาหารแต่ไม่ยอมกินปลา ซึ่งอาจเป็นความคุ้นชินต่ออาหารที่เคยได้กินประจำมาก่อน ,สัตว์กลุ่มเพรียงหินเกาะที่บริเวณหางและเกล็ดคอ แสดงถึงน้ำที่เคยอาศัยอยู่มาก่อนเป็นน้ำเค็มและจากการสแกนจากเจ้าหน้าที่ไม่พบไมโครชิพ และ ไม่มีการขลิบเกล็ด ที่หาง แสดงว่าจระเข้ตัวนี้ไม่เคยอยู่ในระบบจระเข้ ที่ถูกครอบครองอย่างถูกกฎหมายมาก่อน ทั้งนี้  ในกรณีหากเป็นจระเข้น้ำเค็มแท้ ชาวภูเก็ตส่วนหนึ่งอยากให้ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ แต่ไม่ใช่บริเวณจังหวัดภูเก็ตส่วนหนึ่งต้องการให้ขังเพื่อความปลอดภัยต่อคนที่จะไม่โดนจระเข้ทำร้ายและจระเข้จะไม่ถูกคนไล่ล่า

นายโกวิทย์  ประมงจังหวัดภูเก็ต กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผลการตรวจ DNA  จระเข้ยะนุ้ย  เป็นจระเข้น้ำเค็ม (Crocodylus porosus) โดยยืนยันจากรายงานผลตรวจสุขภาพจระเข้จังหวัดภูเก็ตวันที่ 15 สิงหาคม 2561 คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ดำเนินการตรวจสุขภาพและเก็บตัวอย่างส่งตรวจในห้องปฏิบัติการ จากการประเมินสุขภาพเบื้องต้นพบว่าจระเข้มีการตอบสนองต่อสิ่งเร้าและสิ่งแวดล้อมดี โดยหลังจากนี้กรมประมงจะมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อหาข้อยุติในการดูแลจระเข้ยะนุ้ยให้เกิดความเหมาะสมต่อไป