จับเพิ่มคดีเรือฟีนิกซ์ ปปง.ยันเส้นทางการเงินชัดเข้าข่ายนอมินิ จ่อยึดทรัพย์

โพสเมื่อ : Monday, August 27th, 2018 : 6.40 pm

จับเพิ่มอีก 2 ผู้ต้องหาเรือฟีนิกซ์ เส้นทางการเงินชัด ยันนอมินี โอนไปมา เจ้าของตัวจริงในจีนกับภูเก็ต จ่อยึดทรัพย์ ทนายผู้ต้องหายื่นปปช.สอบ ตร.ขู่รับสารภาพ

เมื่อเวลา 15.30 น.วันนี้ ( 27 ส.ค.) ที่ห้องประชุมกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต พล.ต.อ.รุ่งโรจน์ แสงคร้าม รอง ผบ.ตร. พร้อมด้วย  พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบช.ทท. พล.ต.ต.กฤษกร พลีธัญญวงศ์ รอง ผบช.สกบ.พล.ต.ต.ดำรัส วิริยะกุล รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 นายพีรพัฒน์ อิงค์พงศ์พันธ์ ผอ.กองคดีอาญา 1 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. และ พล.ต.ต.ปรีดีย์ พงศ์เศรษฐสันต์ ร่วมกันแถลง ผลการดำเนินคดี กรณีเรือฟีนิกซ์ล่ม เมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา จนทำให้นักท่องเที่ยวจีนเสียชีวิต 47 คน ได้รับบาดเจ็บสาหัส จำนวน 1 คนและ บาดเจ็บเล็กน้อย 11 คน

พล.ต.อ.รุ่งโรจน์ แสงคร้าม รอง ผบ.ตร. กล่าวว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงได้มีคำสั่ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 451/2561 เรื่องแต่งตั้งพนักงานสืบสวนสอบสวน เนื่องจากเป็นคดีสำคัญ เป็นคดีที่น่าสนใจ และให้ทำการสืบสวนความผิดเกี่ยวพันกับคดีอาญาอื่น เชื่อมโยงกับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลหลายกลุ่ม รวมทั้งนิติบุคคล กรรมการผู้จัดการ โดยพนักงานสืบสวนสอบสวน และได้ทำการสืบสวนสอบสวนมาโดยตลอด

จากการตรวจสอบพบว่า เรือฟินิกซ์ ที่อับปาง เป็นของบริษัท ทีซี บลู ดรีม จำกัด ต่อมาจากการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานนำไปสู่การดำเนินคดีกับผู้ต้องหาจำนวน 3 คน ประกอบด้วย  นายสมจริง บุญธรรม อายุ 50 ปี (กัปตันเรือฟินิกซ์) นายอ่อนจันทร์ กัณหาโยธี อายุ 57 ปี (นายช่างเรือฟินิกซ์) น.ส.วรลักษณ์ ฤกษ์ชัยกาล อายุ 26 ปี (ในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้บริหารและกรรมการ บริษัท ทีซี บลู ดรีม จำกัด) ในความผิดฐาน “กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ได้รับบาดเจ็บสาหัสและได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ” ปัจจุบันคณะพนักงานสอบสวนกำลังสรุปสำนวนการสอบสวนมีความเห็นทางคดีส่งสำนวนสอบสวนให้กับพนักงานอัยการเพื่อดำเนินคดีกับผู้ต้องหาต่อไป

และจากการสืบสวนขยายผล บริษัท ทีซี บลู ดรีม จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของเรือฟินิกซ์ พบว่า บริษัทจัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2559 ในการยื่นขอจดทะเบียน มีผู้เริ่มก่อการและผู้ถือหุ้นจำนวน 3 คน คือ นางสาววรลักษณ์ ฤกษ์ชัยกาล,นายจักรพันธ์ ฤกษ์ชัยกาล และนางยินดี ฤกษ์ชัยกาล มีกรรมการ ผู้มีอำนาจเพียงผู้เดียวคือ นางสาววรลักษณ์ ฤกษ์ชัยกาล และ ในวันเกิดเหตุ นางสาววรลักษณ์ ก็มาแสดงตัวเป็นเจ้าของบริษัทฯ

พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบช.ทท. กล่าวว่า จากการตรวจสอบประวัติของ น.ส.วรลักษณ์ พบว่า มีสามีเป็นคนจีน นอกจากนั้นพนักงานสืบสวนสอบสวน ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.), เจ้าหน้าที่ตำรวจท่องเที่ยวและเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต ได้สืบสวนจากพยานบุคคลและตรวจสอบเส้นทางการเงินของ บริษัท ทีซี บลู ดรีม จำกัด เป็นบริษัทนอมินี ของคนต่างชาติ ที่มี น.ส.วรลักษณ์ ฤกษ์ชัยกาล แสดงตนเป็นเจ้าของและถือหุ้นแทน จากนั้นได้รวบรวมพยานหลักฐานไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สภ.ฉลอง จังหวัดภูเก็ต เพื่อขอออกหมายจับเพิ่ม

 

อย่างไรก็ตามหลังจากมีการรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ขณะนี้ศาลจังหวัดภูเก็ต ได้อนุมัติหมายจับผู้ต้องหา เพิ่มเติม จำนวน 4 รายคือ  1.น.ส.วรลักษณ์ ฤกษ์ชัยกาล กรรมการ บริษัท ทีซี บลู ดรีม จำกัด ซึ่งเป็นนอมินีคนไทย ตามหมายจับศาลจังหวัดภูเก็ต ที่ 357/2561 ลงวันที่ 10 สิงหาคม 2561 2.MR.LEI HOU (เหล่ย ฮัว) สัญชาติจีน ซึ่งเป็นเจ้าของเงินทุนและเจ้าของบริษัทที่แท้จริงตามหมายจับศาลจังหวัดภูเก็ต ที่ 358/2561 ลงวันที่ 10 สิงหาคม 2561 3.นางยินดี ฤกษ์ชัยกาล อายุ 50 ปี (ผู้ถือหุ้นบริษัท ทีซี บลู ดรีม จำกัด) ตามหมายจับศาลจังหวัดภูเก็ต ที่ 372/2561 ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2561 4.นายจักรพันธ์ ฤกษ์ชัยกาล อายุ 31 ปี (ผู้ถือหุ้นบริษัท ทีซี บลู ดรีม จำกัด) ตามหมายจับศาลจังหวัดภูเก็ต ที่ 371/2561 ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2561

 

ในความผิดฐาน “ร่วมกันเป็นอั้งยี่,ร่วมกันประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว(ธุรกิจนำเที่ยว) โดยแสดงออกว่าเป็นธุรกิจของตนแต่เพียงผู้เดียวและถือหุ้นแทนคนต่างด้าวในบริษัทจำกัด เพื่อให้คนต่างด้าว ประกอบธุรกิจนำเที่ยวโดยหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และเป็นการที่คนต่างด้าวยินยอมให้ผู้มีสัญชาติไทยกระทำการดังกล่าว

อย่างไรก็ตามในวันนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถ จับกุมตัวผู้ต้องหาได้จำนวน 2 คน คือนางยินดี ฤกษ์ชัยกาล และนายจักรพันธ์ ฤกษ์ชัยกาล นำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการสอบปากคำ  ส่วน น.ส.วรลักษณ์ ฤกษ์ชัยกาล ปัจจุบันถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำจังหวัดภูเก็ต พนักงานสอบสวนจะได้อายัดตัว และเข้าไปแจ้งความเพิ่มเติมที่เรือนจำ ส่วน MR.LEI HOU (เหล่ย ฮัว) สัญชาติจีน ได้หลบหนีออกนอกประเทศไปแล้ว ได้ออกประกาศสืบจับไว้แล้วและเร่งจับกุมตัว มาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ กล่าวต่อไปว่า โดยที่ผ่านมาจากการตรวจสอบพบว่า หลังจากจบการศึกษา นางสาววรลักษณ์  ก็เริ่มต้นด้วยการ เป็นกรรมการบริษัทที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการท่องเที่ยว หลายบริษัทด้วย ตั้งแต่ ปี 58 – 60 จนกระทั้งปี 60 มาเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท ทีซี บลู ดรีม จำกัด ซึ่งตั้งแต่จบมาก็ไม่ได้ทำอะไรนอกจากรับเป็นนอมินีให้ชาวต่างชาติ ซึ่งการดำเนินคดีในครั้งนี้เป็นการดำเนินคดีตามกฎหมาย ปปง. และ  มาตรการภาษี ที่แจ้งว่ามีรายได้เดือดละ 2 แสน แต่มีรายได้มากกว่าเดือนละ 1 ล้าน ซึ่งเป็นการหลีกเลี่ยงภาษีอย่างชัดเจน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะรายงานไปยังรัฐบาลจีนเพื่อให้ทราบถึงความคืบหน้าในการดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ทั้งหมด ซึ่งร่วมไปถึงหน่วยงานราชการที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ด้วย เพราะทางการจีนเองต้องการทราบว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้นักท่องเที่ยวเสียชีวิต

ส่วนกรณีเจ้าท่าสาขาภูเก็ตนั้นก็ได้มีการดำเนินคดีในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่แล้ว เนื่องจากมนวันที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ไม่ทำหน้าที่ของตัวเอง ไม่มีการปล่อยเรือออกจากท่า ซึ่งขณะนี้ได้ส่งเรื่องให้ทางหน่อวยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแล้ว

พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ ยังได้กล่าวต่อไปว่า จากการตรวจสอบเรื่องของนอมินี ในจังหวัดภูเก็ตพบว่ายังมีอยู่อีกจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะทำเกี่ยวกับเรื่องการท่องเที่ยว เงินที่ได้มาถูกส่งออกไปยังเจ้าของตัวจริงที่ไม่ใช่คนไทย จึงอยากให้คนไทยเป็นเจ้าของธุรกิจที่แท้จริงอย่าไปทำตัวเป็นนอมินี  ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าพฤติกรรมและเส้นทางในการทำงานจะมีลักษณะคล้ายๆกัน คือการส่งเงินมาจากต่างประเทศ ผ่านนอมินีที่เป็นไทย ในการบริหารจัดการและใช้ เมื่อได้เงินมานอมินีคนไทยก็จะส่งกลับไปยังชาวต่างชาติ ซึ่งตนมาวันนี้ก็เพื่อที่จะทำให้นอมินีหมดไปจากจังหวัดภูเก็ต และให้คนไทยมีที่ยืน แต่การจะใช้กฎหมายเข้ามาดำเนินการเพียงอย่างเดียวในการจัดการกับนอมินีเชื่อว่าไม่สามารถทำได้ จะต้องอาศัยความร่วมมือของคนในพื้นที่ด้วย

พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ ยังได้กล่าวต่อไปว่า ในการดำเนินการกับผู้ที่กระทำความผิดเกี่ยวกับการจัดตั้งบริษัทนำเที่ยวไม่ถูกต้องนั้น ทางตำรวจท่องเที่ยว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยวันนี้ ได้มีการจับกุม นายสงกรานต์ สุกิตติกุล ที่อยู่ 125/320 หมู่ 5 ต.รัษฎา อ.เมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต ซึ่งได้รับแจ้งจากสายลับว่าน่าจะเป็นบุคคลได้รับบัตรประชาชนมาโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หลังจากตรวจสอบจึงได้ขอศาลอนุมัติหมายจับ ในข้อหา 1.พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน มาตรา 14 “ยื่นคำขอมีบัตรโดยมิได้มีสัญชาติไทยด้วยการแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จ หรือปกปิดความจริงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และใช้หรือแสดงบัตรประชาชนอันได้มาหรือเกิดจากการกระทำผิด”

2.ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 “แจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่พนักงานซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย แจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำผิดการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานโดยประการ ที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน”

3.ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 “ใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำผิดมาตรา 267แห่งประมวลกฎหมาย”

ด้านนายพีรพัฒน์ อิงค์พงศ์พันธ์ ผอ.กองคดีอาญา 1 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. กล่าวว่า ภายหลังจากที่เกิดเหตุเรือล่ม ทาง ปปง.ได้เข้าร่วมทำคดีกับพนักงานสอบสวนตั้งแต่วันแรกที่เกิดเหตุการณ์ จากการสอบสวนพบเส้นทางการเงินของ น.ส.วรลักษณ์ ฤกษ์ชัยกาล กรรมการ บริษัท ทีซี บลู ดรีม จำกัด เจ้าของเรือฟีนิกซ์ ผู้ต้องหา พบผู้ต้องหามีเส้นทางการเงินที่เชื่อมโยงเกี่ยวและข้องกับคนต่างชาติอย่างชัดเจน มีการโอนเงินจากต่างประเทศมายังผู้ต้องหา ผู้ต้องหาได้โอนเงินต่อไปยังเจ้าของอู่ต่อเรือ เพื่อชำระค่าต่อเรือฟีนิกซ์ และเมื่อมีการนำเรือมาประกอบการ ก็มีการโอนเงินจากผู้ต้องหาไปยังบุคคลที่อยู่ในต่างประเทศ มีการระบุคนโอนและคนรับอย่างชัดเจน โอนกันไปมาอย่างต่อเนื่อง

“เส้นทางการเงินชัดเจนมากระหว่างผู้ต้องหาที่อยู่ในประเทศไทยกับผู้ต้องหาที่อยู่ในประเทศจีน จึงสรุปได้ว่าผู้ต้องหาเป็นนอมินีให้กับคนต่างชาติ หลังจากนี้ ทางปปง.จะติดตามตรวจสอบเงินที่ได้จากการเป็นนอมินีของผู้ต้องหา ว่า ได้เอาไปลงทุนในส่วนไหนบ้าง เพื่อทำการยึดทรัพย์ต่อไป”

ขณะที่พล.ต.ต.ปรีดีย์ พงศ์เศรษฐสันต์ รองผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ กล่าวว่า สำหรับการตรวจพิสูจน์หลักฐานชิ้นสำคัญ คือ เรือฟีนิกซ์ ที่ต้องรอให้ทางกรมเจ้าท่ากู้ขึ้นมา เมื่อกู้ขึ้นมาแล้ว ทางผู้เชี่ยวชาญและพนักงานสอบสวน จะเข้าไปดำเนินการใน 3 เรื่อง คือ 1.การตรวจสอบทางกายภาพของเรือทั้งหมด ว่าสภาพเรือเป็นอย่างไร ชำรุดและเสียหายมากน้อยแค่ไหน 2.ร่วมกันพิสูจน์โครงสร้างเรือเปรียบเทียบกับแบบแปลนที่ได้รับอนุมัติจากกรมเจ้าท่าตรงกับต่อเรือหรือไม่ ทั้งในส่วนของวัสดุและเครื่องยนต์ และ 3.ตรวจสอบแบบแปลนเรือว่าตรงตามมาตรฐานการต่อเรือระดับสากลหรือ ทั้งในเรื่องโครงสร้างเรือ เครื่องยนต์ ซึ่งการตรวจสอบเรือลำดังกล่าวเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก ในการเป็นหลักฐานพยานของคดีนี้

อย่างไรก็ตาม หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ควบคุมตัวผู้ต้องหาที่เป็นแม่และพี่ชายของ น.ส.วรลักษณ์ มาสอบปากคำ ที่กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต ทีมทนายความและที่ปรึกษาทนายความ น.ส.นลิน อินทรสมบัติ ทนายความผู้ถูกกล่าวหาคดีเรือฟีนิกซ์ล่ม พร้อมด้วย นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ ที่ปรึกษาทนายความ ได้เดินทางมาร่วมรับฟังการสอบปากคำเพื่อเตรียมยื่นคำขอประกันตัวผู้ต้องหาทั้ง 2 รายที่ถูก

นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ ที่ปรึกษาทนายความ กล่าวว่า สำหรับที่ตนเดินทางมาในครั้งนี้ สืบเนื่องจากตนมาทำธุระอยู่ที่จังหวัดพังงา และทราบว่าลูกความซึ่งเป็นแม่และพี่ชายของ น.ส.วรลักษณ์ ฤกษ์ชัยกาล กรรมการ บริษัท ทีซี บลู ดรีม จำกัด ถูกเจ้าหน้าที่ฯจับกุมตัวมาดำเนินคดีตนจึงได้เดินทางมาดูการสอบสวนและเพื่อเตรียมยื่นประกันตัว ซึ่งการประกันตัวนั้นอยู่ที่ดุลพินิจของพนักงานสอบสวนว่าจะให้ประกันตัวหรือไม่

นายนิพิฎฐ์ กล่าวต่อไปอีกว่า ผู้ต้องหาไม่มีโอกาสเสรีภาพในการต่อสู้คดี ในขณะที่หน่วยงานของภาครัฐทุกหน่วยงานเดินทางลงมาทำคดีนี้ แต่เราไม่สามารถหาพยานหลักฐานในการต่อสู้คดีก็เหมือนมัดมือชกในการต่อสู้คดี แต่ตนมั่นใจถ้าผู้ต้องหาออกจากเรือนจำได้จะสามารถหาพยานหลักฐานมาสู้คดีได้ และตนคิดว่าภายในสัปดาห์นี้ตนจะเดินทางไป ป.ป.ช. ไปแจ้งเรื่องที่พนักงานสอบสวนปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ส่วนจะพาดพิงไปถึงใครแล้วแต่ทาง ป.ป.ช.จะมีการสอบสวนต่อไป