นายกฯ ยาหอมได้ยินกับหู เห็นกับตา คนภูเก็ตทำได้ ร่วมพัฒนาการศึกษาที่เท่าเทียม

โพสเมื่อ : Monday, June 6th, 2022 : 4.36 pm

 

นายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมการจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วมของจังหวัดภูเก็ต หรือ Partnership School Project โดยมีเป้าหมายพัฒนาให้เด็กและเยาวชนภูเก็ต มี 3 ทักษะ คือ ทักษะภาษาอังกฤษ ทักษะเทคโนโลยีดิจิทัล ทักษะความเป็นผู้ประกอบการ และ เป็น “คนตงห่อ”  มั่นใจภูเก็ตทำได้ จัดการศึกษาเท่าเทียม

 

 

เมื่อเวลา 13.30 น.วันนี้ (6 มิ.ย.) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เดินทางมาตรวจเยี่ยมโรงเรียนพุทธมงคลนิมิตร ภูเก็ต ซึ่งเป็นโรงเรียนการกุศลในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนจัดการศึกษาให้นักเรียนได้เรียนฟรี 100% ปัจจุบันมี พระครูเมตตาภิรม ทวีสมาน เจ้าคณะจังหวัดภูเก็ต เจ้าอาวาสวัดมงคลนิมิตร พระอารามหลวง เป็นผู้รับใบอนุญาต

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือการและร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือการพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Partnership Schoo Project ระหว่าง โรงเรียนพุทธมงคลนิมิตร วิทยาลัยอาชีวศึกษา ภูเก็ต เครือเซ็นทรัลกรุ๊ป และเครือพาราไดซ์ กรุ๊ป และโรงแรมอันดารา รีสอร์ท เรสซิเดนซ์ ในการเตรียมความพร้อมนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลเข้าสู่ระดับอาชีวศึกษา โดยจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ สอดรับกับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ต ซึ่งอาศัยภาคธุรกิจท่องเที่ยวเป็นหลักในการขับเคลื่อน

ทั้งนี้ นโยบายและทิศทางการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาทั้งระบบของจังหวัดภูเก็ต มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการศึกษานานาชาติ และเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) ของ UNESCO โดยมีเป้าหมายสำคัญให้เด็กและเยาวชนในจังหวัดภูเก็ตมีทักษะด้านภาษาอังกฤษ ( English Skills) ทักษะเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) ทักษะความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Skills) และส่งเสริมให้เด็กและเยาวชน เป็น “คนตงห่อ”  ซึ่งเป็นภาษาพื้นถิ่นภูเก็ต หมายถึง เป็นคนดีในทุก ๆ ด้าน ที่ผ่านมา มีการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน Partnership School Projectโดยระยะเริ่มต้น จะเป็นการยกระดับการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้เด็กระดับอนุบาลในทุก ๆ โรงเรียนโดยนำร่องที่โรงเรียนในกลุ่มภักดีภูธร จำนวน 8 โรงเรียน ร่วมกับเครือโรงแรมในกลุ่มแอคคอร์ ส่งครูต่างชาติ ครูอาสาสมัคร และบุคลากรที่มีความรู้ด้านภาษาอังกฤษเข้าไปสอนภาษาอังกฤษให้กับนักเรียน

อย่างไรก็ตาม ภายหลังเป็นสักขีพยานการลงนาม นายกรัฐมนตรี ได้พบปะหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ครู และนักเรียน พร้อมกับกล่าวว่า ตนให้ความสำคัญกับจังหวัดภูเก็ต ที่ผ่านมาทางรัฐบาลและคนภูเก็ตร่วมกันทำให้จังหวัดภูเก็ตก้าวข้ามความยากลำบากในช่วงโควิดมาได้ระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งภูเก็ตถือว่าเป็นจังหวัดนำร่องที่ทำโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ขึ้นมา ซึ่งวันนี้เป็นที่น่าภาคภูมิใจว่าหลายๆประเทศรับรู้ และชื่นชมและสอบถามแนวทางในการพัฒนาภูเก็ตเพื่อนำไปถอดบนเรียนในการขับเคลื่อนของประเทศต่างๆที่ได้รับผลกระทบจากโควิดเช่นเดียวกับประเทศไทย

พล.อ.ประยุทธ กล่าวต่อไปว่า แม้ว่าที่ผ่านมาเราจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ แต่สิ่งที่เราไม่เคยท้อเลยคือ เรื่องจิตใจของเราคนของเราไม่เคยท้อ รัฐบาลไม่เคยท้อ แม้ว่าจะเจอปัญหากับโลกที่มีความผันผวน มีความท้าทาย มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา วันนี้ตนเห็นสิ่งที่คนภูเก็ตทำแล้ว ทำให้มีกำลังใจที่จะทำต่อไป ได้รับแรงกำลังใจเป็นอย่างมาก จากทุกภาคส่วนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ทางด้านการศึกษา โดยศึกษาถูกกำหนดให้เป็นยุทธศาสตร์หลักของชาติ คือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ที่ทั้งกว้าง ทั้งยาว และไกล ซึ่งการพัฒนาจะต้องพัฒนากันตั้งแต่เด็ก เด็กกลาง เด็กโต เด็กจบไปมีงานทำ

ซึ่งที่ภูเก็ตทำในวันนี้ คือ การทำให้เด็กเข้าถึงการศึกษา หลายคนมีความเหลื่อมล้ำ หลายคนขาดแรงสนับสนุน แต่การที่ทุกคนเข้ามาเสริมเข้ามาช่วยกัน ณ จุดนี้ ที่เรียกว่าความร่วมมือ เพื่อขับเคลื่อนไปด้วยกัน ตั้งแต่เด็กเกิด โต และมีงานทำ จนกรทั่งตาย ซึ่งนี้เป็นสิ่งที่เรียกว่าแผ่นดินเกิด ประเทศของเรา วันนี้คนภูเก็ตทำให้เห็นแล้วว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ คนภูเก็ตทำให้เห็นด้วยตา ได้ยินด้วยหูตัวเอง ซึ่งเป็นการคิดถูกคิดดีที่สุดในขณะนี้ เพราะไม่มีใครที่จะรับมือกับปัญหาได้โดยลำพัง แม้ว่าคนภูเก็ตส่วนหนึ่งจะมาจากที่อื่น แต่ก็มาทำงานธุรกิจอยู่ในภูเก็ต ซึ่งวันนี้ทุกคนแสดงให้เห็นแล้วว่าจะร่วมมือทำไปด้วยกัน และหาทางที่จะสนับสนุนต่อเติมไปด้วยกัน ซึ่งเป็นการร่วมมือที่ดีที่สุด

พล.อ.ประยุทธ กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่ตนเองพูดอยู่เสมอคือทำอย่างไรให้เราสามารถผลิตคนได้ตรงกับความต้องการของประเทศ เราต้องการแรงงานที่มีฝีมือ เราต้องการผู้ให้บริการที่มีคุณภาพ เราต้องการนายจ้างที่มีคุณธรรมจริยธรรมทั้งหมดคือการประกอบการให้เกิดผลผลิตที่ดี ซึ่งจะทำให้ประเทศดีขึ้น ในอนาคตข้างหน้าทุกคนเรียนจบออกมาต้องมีงานทำเพราะเด็กทุกคนเกิดมามีพรสวรรค์ติดตัวมาแต่จะทำย่างไรที่จะหาพรสวรรค์ให้พบ เพื่อให้เด็กได้นำพรสวรรค์ที่มีอยู่แล้วมาใช้อย่างเต็มที่และนำความสามารถมาร่วมกันพัฒนาประเทศ

เพราะจะนั้นการพัฒนาคนต้องเริ่มตั้งแต่ระดับอนุบาล ซึ่งการพัฒนามาจากทุกแหล่ง ทั้งจากครอบครัว จากโรงเรียน และจากสังคม จริงๆแล้วพื้นฐานของเราไม่ได้ด้อยกว่าใคร เราจะต้องทำให้เด็กของเรามีความภูมิใจให้ได้ หน้าที่และสิทธิมาด้วยกันเสมอ และมีสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ถ้าไม่มี 3 เรื่องนี้จะไม่รู้เลยวาเรามาจากใหม่ มีรากฐานจากไหน แล้วเราจะรักประเทศรักภูเก็ตได้อย่างไร เพราะฉะนั้นเราจะต้องยืนหยัดให้ได้ภายใต้บริบทของสังคมไทยที่มีอยู่ปัจจุบัน คือสังคมแห่งการแบ่งปัน สังคมแห่งความช่วยเหลือ สังคมแห่งการเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน สิ่งเหล่านี้อย่าให้ถูกทำลายโดยเด็ดขาด