กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ ในภูเก็ต จับมือภาครัฐเอกชน จัดโครงการ “Heart To Heart ด้วยหัวใจที่แบ่งปัน”

โพสเมื่อ : Thursday, February 15th, 2024 : 10.58 am

 

กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพในจังหวัดภูเก็ต ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ โครงการ “Heart To Heart ด้วยหัวใจที่แบ่งปัน” กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อผลักดันให้จังหวัดภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในภูมิภาคอันดามัน ตามแผนพัฒนายุทธศาสตร์ มีเป้าหมาย 10% ของประชากรในจังหวัดภูเก็ต มีความรู้ในการ CPR และนำไปใช้ได้จริง

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา คณะผู้บริหารเครือกรุงเทพดุสิตเวชการ กลุ่ม 6 ภาคใต้ (จังหวัดภูเก็ต) ประกอบด้วยโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต โรงพยาบาลกรุงเทพสิริโรจน์ และโรงพยาบาลดีบุก เล็งเห็นถึงความสำคัญด้านความปลอดภัย สร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตและจากทั่วโลก ได้จัดโครงการ “Heart To Heart ด้วยหัวใจที่แบ่งปัน” เพื่ออบรมการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ พร้อมสาธิตการใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจชนิดอัตโนมัติ  (AED) ให้แก่ประชาชนทั่วไป หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต สามารถช่วยเหลือผู้ประสบเหตุในกรณีฉุกเฉินได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที โดยมีเป้าหมายผู้เข้าอบรมคิดเป็น 10% ของประชากรในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งโครงการดังกล่าว ได้รับความร่วมมือในการร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน กว่า 70 องค์กร ณ ห้องประชุมคิง คาร์ฟ กุสตาร์ฟ โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต โดยมี นายกองเอกอดุลย์ ชูทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิด รวมทั้งหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

นายกองเอกอดุลย์ ชูทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงยุทธศาสตร์ของ ประเทศไทยที่กำลังก้าวสู่การเป็น Medical and Wellness Destination ของภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นข้อโดดเด่นที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศและเป็นอีกนโยบายหนึ่ง ที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย จากการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ซึ่งจังหวัดภูเก็ตเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกต่างให้ความสนใจและต้องการเข้ามาท่องเที่ยว ดังนั้นโครงการ Heart To Heart ด้วยหัวใจที่แบ่งปันนี้ จึงเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความมั่นใจในปลอดภัยและได้รับประสบการณ์ที่ดีกลับไป

ด้าน นายแพทย์นรินทร์ บุญจงเจริญ ประธานคณะผู้บริหารโรงพยาบาลในเครือบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด(มหาชน) กลุ่ม 6 กล่าวขอบคุณตัวแทนองค์กรที่มาร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ทั้งภาครัฐ และเอกชน ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญด้านความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน และนักท่องเที่ยว โดยตอบรับคำเชิญเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการ Heart to Heart ด้วยหัวใจที่แบ่งปัน” และร่วมกันผลักดัน สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนชาวภูเก็ต นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ อันจะแสดงให้เห็นถึงพลังของชาวภูเก็ตในฐานะเจ้าบ้านที่พร้อมให้การต้อนรับ และช่วยเหลือนักท่องเที่ยวที่มาจากทั่วทุกมุมโลก ทางโรงพยาบาลในเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ จังหวัดภูเก็ต มีความมุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนแผนนโนบายภาพรวมของประเทศให้ก้าวสู่ Medical and Wellness Destination ของภูมิภาคเอเชีย ด้านการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ต่อไป

ขณะที่ แพทย์หญิงลลิตา กองสีหา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต กล่าวถึงความสำคัญของการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) ว่าเป็นวิธีปฐมพยาบาลที่เพิ่มโอกาสรอดชีวิต ช่วยลดอาการบาดเจ็บ ความพิการ ตลอดจนการสูญเสียชีวิต โดยผู้ช่วยเหลือจะต้องมีความรู้ความเข้าใจและทักษะการช่วยเหลือ มีความมั่นใจและปฏิบัติอย่างถูกต้องเหมาะสม จึงจะทำให้การช่วยเหลือประสบผลสำเร็จ โดยความสำคัญของการทำ CPR นั้น ขึ้นอยู่ที่การปั๊มหัวใจที่ต้องทำให้ถูกต้องและทันเวลา เพราะหากสมองขาดออกซิเจนไปเกิน 4 นาที นั้นอาจเสียหายได้ และทุก ๆ นาทีที่ผ่านไปโดยไม่ได้ทำ CPR และกระตุ้นหัวใจจะทำให้โอกาสรอดของผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นจะลดลง 7-10%

นอกจากนั้นยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า  ข้อมูลสถิติขององค์การอนามัยโลก พบว่ามีคนเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นจำนวนถึง 7.2 ล้านคน หรือคิดเป็น 12.2% ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด สำหรับอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด ในประเทศไทยประมาณปีละ 37,000 ราย เสียชีวิตชั่วโมงละ 2 คน โดยมีผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันในประเทศไทย จะมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าที่อื่น ประมาณ 4-6 เท่า

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการทำ CPR โดยการกดหน้าอกจะมีความสำคัญ แต่บางครั้งก็ไม่ได้ช่วยให้ผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันกลับมาหัวใจเต้นปกติได้ทุกคน จึงจำเป็นจะต้องใช้เครื่อง AED ซึ่งเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ประชาชนที่ได้รับการอบรมสามารถใช้ได้ จะเห็นได้ว่าความรู้ของการเข้ารับการอบรม และฝึกฝนการทำ CPR สามารถช่วยลดการสูญเสียชีวิตในกรณีฉุกเฉินได้ อีกทั้งยังสร้างความมั่นใจให้แก่นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาจังหวัดภูเก็ต

ด้านนายแพทย์พิริยะ อธิสุข ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพสิริโรจน์ กล่าวถึงความสำคัญที่จะต้องให้ความรู้และฝึกทักษะการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) ให้กับคนภูเก็ต เนื่องจากจังหวัดภูเก็ตเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก หากชาวภูเก็ต มีความรู้ มีความมั่นใจและให้การช่วยเหลือผู้ประสบเหตุในกรณีฉุกเฉินได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที อันจะส่งผลให้เพิ่มอัตราการรอดชีวิต ทั้งประชาชนคนไทยและนักท่องเที่ยว ก็จะส่งเสริมต่อภาพลักษณ์ให้แก่จังหวัดภูเก็ต ตลอดจนจะทำให้เกิดความภาคภูมิใจ ในการเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้ปลอดภัย ซึ่งมีอยู่อย่างเต็มเปี่ยมในจิตใจของคนภูเก็ต ก็จะยิ่งทำให้จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดที่สามารถยกระดับการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ให้มีความแข็งแกร่งต่อสายตาชาวโลกนั่นเอง

โดยโครงการ “Heart To Heart ด้วยหัวใจที่แบ่งปัน”  มีเป้าหมายให้ประชากรเข้าร่วมอบรมการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) พร้อมใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจชนิดอัตโนมัติ (AED) 10% ของประชากรในจังหวัดภูเก็ต มีระยะเวลาการดำเนินโครงการ 1 ปี เพื่อให้มีจำนวนกลุ่มเป้าหมายตามที่กำหนด  และอาจมีการพิจารณาขยายกลุ่มเป้าหมายเพิ่มเติมเป็นลำดับต่อไป ซึ่งผู้ที่มีความต้องการเข้าอบรมสามารถลงทะเบียนได้ผ่านช่องทางแพลตฟอร์มของเครือโรงพยาบาลกรุงเทพจังหวัดภูเก็ต ประกอบด้วย โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต โรงพยาบาลกรุงเทพสิริโรจน์ และโรงพยาบาลดีบุก

 

นายแพทย์ณัฐเวทย์ มีกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลดีบุก ได้กล่าวถึง รูปแบบและระยะเวลาการดำเนินโครงการ Heart to Heart ด้วยหัวใจที่แบ่งปัน ว่าจัดการอบรมโดยคณะผู้ฝึกสอนจากศูนย์พัฒนาบุคลากรทางการเเพทย์ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มภาคใต้ ซึ่งผ่านการรับรอง Thai Resuscitation Council ประเทศไทย และ American Heart Association จากประเทศสหรัฐอเมริกา และทีมครูอาสาร้อย(พลัง)ช่วยล้าน(ชีวิต) แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม

กลุ่มที่ 1 คือภาคประชาชน มีระยะเวลาการเรียน 3 ชั่วโมง หลักสูตรทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ โดยมีสถานการณ์จำลอง เพื่อให้ผู้อบรมเกิดการเรียนรู้ มีความเข้าใจและสามารถนำไปใช้ได้จริง สามารถช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ ให้พ้นจากอันตรายได้อย่างถูกต้อง และมีประสิทธิภาพก่อนนําส่งโรงพยาบาลได้มากที่สุด

กลุ่มที่ 2 คือ Train The Trainer เป็นหลักสูตรขั้นสูงและเข้มข้นกว่า เพื่อสร้างทีมผู้สอน Basic Life Support จะมีเนื้อหาเพื่อการถ่ายทอดและขยายผล ส่งต่อความรู้ ทักษะ CPR ให้ทั่วถึงกับกลุ่มเป้าหมายและประชาชนผู้สนใจ มีระยะเวลาการเรียน 3 วัน มีการเรียนภาคทฤษฎีและปฏิบัติ รวมถึงการสอบประเมินวัดผลระดับผู้เรียน โดยเมื่อเรียนแล้วจะสามารถสร้างทีมและขยายเครือข่ายการสอนฟื้นคืนชีพต่อไปได้

ภายหลังการแถลงข่าว ทางศูนย์พัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มภาคใต้ ยังจัดการอบรมช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) และการใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจชนิดอัตโนมัติ (AED) รุ่นที่ 1 ประจำปี 2567 จำนวน 30 ท่าน ณ ห้องประชุมคิง คาร์ฟ กุสตาร์ฟ อาคาร 1 โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ตอีกด้วย

เครือโรงพยาบาลกรุงเทพจังหวัดภูเก็ต ประกอบด้วย โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต โรงพยาบาลกรุงเทพสิริโรจน์ และโรงพยาบาลดีบุก มีความมุ่งมั่น ตั้งใจและร่วมเป็นส่วนหนึ่ง โดยใช้ความเชี่ยวชาญและทักษะ ส่งต่อความรู้ช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) ให้กับชุมชน พร้อมสร้างความร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ เพื่อดูแลชาวภูเก็ตและจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งนักท่องเที่ยวให้มีความปลอดภัย รู้สึกอุ่นใจ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน