กรมที่ดิน ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์ฯ อปท. ลงนามความร่วมมือ พัฒนาระบบ จัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

โพสเมื่อ : Friday, May 20th, 2022 : 3.51 pm

กรมที่ดิน จับมือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในจังหวัดภูเก็ต ลงนาม ความร่วมมือ พัฒนาระบบการให้บริการ จัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ช่วยประชาชนและภาคธุรกิจใช้เป็นข้อมูล ประกอบการตัดสินใจซื้อ – ขายที่ดิน

เมื่อเวลา 14.00 น. วันนี้ (20 พ.ค.) ที่ห้องประชุมคอซิมบี้ ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต (หลังเก่า) กรมที่ดิน ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในจังหวัดภูเก็ต ลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการบูรณา การพัฒนาการให้บริการเกี่ยวกับที่ดิน และ สิ่งปลูกสร้างในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต โดยมี นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมที่ดิน ตัวแทนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ตลอดจน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดภูเก็ต และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมที่ดิน เปิดเผยว่า การลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการบูรณาการพัฒนาการให้บริการเกี่ยวกับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ระหว่าง กรมที่ดินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในจังหวัดภูเก็ต โดยกรมที่ดินได้พัฒนา Application LandsMaps ให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบจัดการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง CU -TaxGO ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ระบบจัดการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อแสดงข้อมูลเกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้ประชาชนสืบค้น กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในจังหวัดภูเก็ต

ได้แก่ เทศบาลนครภูเก็ต เทศบาลตำบลฉลอง เทศบาลตำบลวิชิต เทศบาลตำบลราไวย์ เทศบาลตำบลรัษฎา เทศบาลตำบลกะรน องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะแก้ว เทศบาลตำบลป้าคลอก เทศบาลตำบลศรีสุนทร เทศบาลตำบลเทพกระษัตรี เทศบาลตำบลเชิงทะเล องค์การบริหารส่วนตำบลสาคู องค์การบริหารส่วนตำบลไม้ขาว องค์การบริหารส่วนตำบลเทพกระษัตรี องค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเล เทศบาลเมืองกะทู้ เทศบาลเมืองป่าตอง และองค์การบริหารส่วนตำบลกมลา

นายนิสิต กล่าวต่อไปว่า กรมที่ดินได้ให้บริการ Application LandsMaps โดยประชาชนสามารถค้นหารูปแปลงที่ดินและรายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับที่ดิน ได้ทั่วประเทศผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ช่วยให้ประชาชนและภาคธุรกิจใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้น ประกอบการตัดสินใจในการพิจารณาจะซื้อจะขายที่ดิน ตรวจสอบพื้นที่ที่ดิน เพื่อนำไปประเมินราคาในการกู้เงินกับสถาบันการเงิน และใช้ในการบริหารจัดการเกี่ยวกับที่ดินและทรัพย์สินของตนเองได้ โดยเฉพาะภาคธุรกิจ ใช้ในการวางแผนเพื่อบริหารจัดการกับที่ดินของตนเอง และที่ต้องการจะซื้อจะขายเพื่อขยายธุรกิจในอนาคตได้ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนผู้เข้าใช้งานในระบบมากกว่า 94 ล้านครั้ง

 

ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการบริหารจัดการเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาการจัดเก็บรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถเพิ่มช่องทางให้ประชาชนรับทราบเกี่ยวกับภาษีที่ดิน และ สิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งอำนวยความสะดวกในการชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของประชาชน และ เสริมสร้างความร่วมมือทางวิชาการ เทคโนโลยีและสร้างเครือข่ายการทำงานอันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน