ภูเก็ตประกอบพิธียกเสาเอกอาคารศาลหลักเมืองจังหวัดภูเก็ตเมืองใหม่

โพสเมื่อ : Thursday, November 24th, 2016 : 12.05 pm

วันนี้ 24 พฤศจิกายน 2559 เวลา 9.19 น.ณ ศาลหลักเมือง จังหวัดภูเก็ต(เมืองใหม่) อำเภอถลาง  จังหวัดภูเก็ต นายโชคชัย  เดชอมรธัญ  ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต  เป็นประธานประกอบพิธียกเสาเอกอาคารศาลหลักเมืองจังหวัดภูเก็ต(เมืองใหม่)1479962759876.jpg

โดยมีนายสนิท  ศรีวิหค, นางศิวพร  ฉั่วสวัสดิ์  รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต  นายถาวรวัฒน์ คงแก้ว  ปลัดจังหวัดภูเก็ต  วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต ประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต  หัวหน้าส่วนราชการและประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมอย่างพร้อมเพรียง  กิจกรรมประกอบด้วย  นายโชคชัย  เดชอมรธัญ  ประธานในพิธีจุดธูปเทียนบวงสรวงพราหมณ์  บวงสรวงเทพเทวาจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย อาราธนาศีลประธานสงฆ์ให้ศีล  ผู้ร่วมพิธีรับศีล 1479962751496.jpg

จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตและหัวหน้าส่วนราชการร่วมกันเจิมของมงคลประกอบด้วยไม้มงคล 9 ชนิด อิฐ นาค เงิน ทอง 9 แผ่นพลอย 9 สี  คณะสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา 1479962753497.jpg

ประธานในพิธีและเจ้าหน้าที่ช่วยยกเสาเอกตอก ไม้มงคล 9 ชนิดวางของมงคลในก้นหลุมเสาเอก  โปรยทรายเสกที่หลุมเสา  เทปูนปิดและโปรยข้าวตอกดอกไม้  ประธานในพิธีถวายจตุปัจจัยไทยธรรมและปิ่นโตแด่พระสงฆ์  พระสงฆ์อนุโมทนา   ประธานในพิธีและประชาชนผู้ร่วมพิธีร่วมกรวดน้ำและรับพรจากพระสงฆ์  เสร็จพิธี

สำหรับแนวคิดในการออกแบบปรับปรุงหลักเมืองจังหวัดภูเก็ต (เมืองใหม่) ผังพื้น ออกแบบให้เป็นไปตามธรรมเนียมการสร้างศาลหลักเมืองคือมีบันไดและทางเข้าออกทั้ง 4 ทิศซึ่งเรียกว่า “พรหมพักตร์”1479962757650.jpg

โครงสร้างอาคารหลังใหม่สร้างครอบส่วนฐานและหลักเมืองเดิมโดยให้โครงสร้างหลุมสำหรับตั้งเสาหลักเมืองต้นใหม่สัมผัสกับยอดเสาหลักเมืองเดิมและมีระยะความลึกของหลุมตั้งเสาและความสูงของเสาหลักเมืองต้นใหม่เป็นไปตามตำราการสร้างหลักเมืองของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทั้งนี้จากชั้นฐานของศาลหลักเมืองใหม่ได้ทำช่องมองซึ่งสามารถมองเห็นศาลหลักเมืองเดิมได้รวมทั้งช่วยระบายอากาศในห้องหลักเมืองเดิมด้านล่างได้อีกด้วย

รูปทรงอาคารเป็นอาคารจตุรมุขทางเข้าของชั้นเรือนซึ่งเป็นที่ตั้งของเสาหลักเมืองต้นใหม่ทั้ง 4 ด้านทำหน้าจั่วเป็นทรงโค้งกลมคลี่คลายมาจากรูปทรงซุ้มประตูหน้าต่างของอาคารแบบชิโน- โปรตุกีสซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของภูเก็ตแต่ประดับเครื่องลำยองและหน้าบันด้วยองค์ประกอบสถาปัตยกรรมแบบไทยประเพณีช่องหน้าต่างด้านข้างมุขทางเข้า ทำเป็นห้องยอดโค้งคล้ายกัน

แต่ประดับซุ้มที่ลายปูนปั้นแบบเทศ ซึ่งเป็นลักษณะลวดลายอิทธิพลผสมผสานศิลปะแบบจีน สื่อถึงลักษณ์วัฒนธรรมท้องถิ่นของภูเก็ตที่เกิดจากการผสมผสานของวัฒนธรรมที่หลากหลาย  แต่โดยรวมยังคงสะท้อนความเป็นไทยตามลักษณะอาคารที่สร้างเพื่อวัตถุประสงค์ทางความเชื่ออย่างศาลหลักเมืองได้อย่างกลมกลืน

ชั้นยอดแบ่งเป็น 2 ส่วนหลักคือ  ชั้นทับเกษตรและชั้นยอดทรงกูบช้าง

ชั้นทับเกษตร  แบ่งด้วยลวดรั้วบัวออกเป็น 3 ชั้น

ชั้นล่างและชั้นกลางทำมุขทั้ง 4 ด้านสื่อถึงความเป็นที่สถิตของเทพยดาที่รักษาศาลหลักเมืองและเมืองภูเก็ต  ยอดส่วนบนสุดทำเป็นเพื่อนยอดที่ดัดแปลงและผสมผสานองค์ประกอบสถาปัตยกรรมทั้งแบบพุทธและแบบพราหมณ์เข้าด้วยกัน คือ ยอดทรงกูบช้าง  ประดับคูหาเรือนแก้วซึ่งคลี่คลายมาจากรูปทรงระฆัง ของสถาปัตยกรรมในพุทธศาสนาอันเป็นรากฐานทางวัฒนธรรมของภาคใต้ในขณะที่มีคูหาเรือนแก้วของเทพยดาทั้ง 4 ทิศ สื่อถึงคติแบบศาสนาพราหมณ์ตามลักษณะความเป็นศาลหลักเมือง  เมื่อประดับไฟแสงสว่างภายในคูหาเรือนแก้วทั้ง 4 ทิศแล้วจึงมีลักษณะคล้ายหอประภาคารอันเป็นจุดหมายตาของเรือในทะเล  สื่อถึงการเป็นศูนย์กลางทางการค้าและวัฒนธรรมของเมืองภูเก็ตมาแต่โบราณ  ที่มุมชั้นยอดชั้นล่างและชั้นกลาง  ทำซุ้มโคม ยอดหัวเม็ด ให้เป็นซุ้มดวงประทีปล้อกับยอดทรงกูบช้าง ชั้นบนสุดชั้นละ 4 ซุ้ม เน้นความพิจิตรและความเป็นหอประภาคารแห่งทะเลอันดามันของภูเก็ต