ดีป้าพาสื่อเยี่ยมชมสมาร์ทซิตี้ภูเก็ต ประกาศความพร้อมขับเคลื่อนต้นแบบเมืองอัจฉริยะ

โพสเมื่อ : Tuesday, February 12th, 2019 : 11.21 am

ดีป้าพาสื่อเยี่ยมชมสมาร์ทซิตี้ภูเก็ต ประกาศความพร้อมขับเคลื่อนต้นแบบเมืองอัจฉริยะ พร้อมชมกิจกรรม Digital Highlights by depa’s Regional

เมื่อวันที่ 11 ก.พ. ที่ผ่านมา สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) หรือ ดีป้า โดยนายมีธรรม ณ ระนอง ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานอาวุโสและรักษาการผู้อำนวยการเขตพื้นที่ภาคเหนือ นายพรชัย หอมชื่น ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานและรักษาผู้อำนวยการฝ่ายบริหารทรัพยากรองค์กรและบุคคล และนายประชา อัครธีระ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลเขตพื้นที่ภาคใต้ ผู้จัดการสาขาภาคใต้ตอนบนและรักษาการผู้จัดการสาขาภาคใต้ตอนล่าง นำสื่อมวลชนทั้งจากส่วนกลางและจังหวัดภูเก็ต จัดกิจกรรม Digital Highlights by depa’s Regional ในสำนักเขตพื้นที่สาขา โดยได้มีการเยี่ยมชมการทำงานของบริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง หรือ PKCD ซึ่งมีนายนิพนธ์ เอกวานิช ประธานกรรมการบริหาร PKCD นายธนูศักดิ์ พึ่งเดช กรรมการบริหาร PKCD และเจ้าหน้าที่นำเสนอภาพรวมการดำเนินงานของ PKCD

โดยเชิญสื่อมวลชนร่วมเดินทางไปยังสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้ง สาขาภาคใต้ตอนบน สาขาภาคเหนือตอนบน และสาขาภาคอีสานตอนกลาง เพื่อร่วมฟังการบรรยายสรุปโครงการต่างๆ ของ depa ในส่วน 3 จังหวัด ที่เป็นต้นแบบเมืองอัจฉริยะ หรือ สมาร์ทซิตี้ คือ จังหวัดภูเก็ต จังหวัดเชียงใหม่ และ จังหวัดขอนแก่น เพื่อให้เห็นถึงความพร้อมในการเริ่มต้นนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้การจัดการเมือง การวางโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัล และการบริหารจัดการเมืองด้วย Big Data เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งมิติทางสังคม และเศรษฐกิจ นำไปสู่การพัฒนาต้นแบบ Smart City อย่างต่อเนื่อง

โดยเริ่มต้นที่เขตพื้นที่สาขาภาคใต้ จังหวัดภูเก็ต มีการรับฟังการบรรยายโครงการ City Data Platform เพื่อพัฒนาเมืองจังหวัดภูเก็ตเป็นเมืองต้นแบบ Smart City Platform และ Open Data ซึ่งอาจทำให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาต้นแบบสมาร์ทซิตี้ อย่างต่อเนื่อง และการเชื่อมโยงข้อมูล นำมาวิเคราะห์และนำเสนอบริการข้อมูลสนับสนุนการบริหารจัดการเมือง ส่งเสริมการท่องเที่ยวและการลงทุน ส่งผลให้เกิดรายได้เข้าประเทศ พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งมิติทางสังคม และเศรษฐกิจ

จังหวัดภูเก็ตเป็นต้นแบบเมืองอัจฉริยะ ที่มีการเติบโตทั้งมิติทางด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างก้าวกระโดด ทำให้มีสภาพสังคมเมืองหรือทำให้ปัญหาที่มีความหลากหลายและความซับซ้อน ซึ่งทำให้การบริหารจัดการเมืองในรูปแบบเดิม ไม่สามารถจัดการกับปัญหาได้ทันท่วงที โดยรัฐบาลได้มีนโยบายในการขับเคลื่อนต้นแบบเมืองอัจฉริยะในจังหวัดภูเก็ต ระยะแรกมุ่งเน้นการเพิ่มความสามารถของเมืองจากการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้การจัดการเมือง โดยวางโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัล เช่น อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงสาธารณะ LoRaWan และ NB-IoT เป็นต้น นำเทคโนโลยีดิจิทัลในการตรวจวัดและการตรวจจับอัตโนมัติ เช่น IoT Sensors CCTV Analytics

นอกจากนี้ การพัฒนาระบบต่างๆ ทั้งที่ดำเนินโดยหน่วยงานรัฐและภาคเอกชน เพื่อให้จังหวัดภูเก็ตเกิดการเติบโตทั้งด้านเศรษฐกิจ และสังคมอย่างยั่งยืน ทำให้จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีความพร้อม ในการเริ่มต้นเพื่อบริหารจัดการเมืองด้วย Big Data เนื่องจากมี Data แบบ Near Realtime เพื่อนำข้อมูลในมิติต่าง ๆ มาใช้ในการประกอบการตัดสินใจในการบริหารจัดการ และแก้ไขปัญหาต่างๆ ของเมือง เสมือนเมืองสามารถรับรู้ถึงสถานะของเมืองอย่างเป็นปัจจุบัน โดยเชื่อมต่อข้อมูลหน่วยงานต่างๆ ในทั้งภาครัฐและเอกชนในจังหวัดภูเก็ต ทางด้านการท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้จังหวัดภูเก็ตมีผลการดำเนินการ Phuket Smart City ใน 7 ด้าน ประกอบด้วย 1.Smart Economy มีการจัดตั้ง Phuket Smart City Innovation park เพื่อเป็นศูนย์กลางการบ่มเพาะผู้ประกอบการ Startup ขึ้น พร้อมมาตรการที่ช่วยส่งเสริมสนับสนับเหล่าผู้ประกอบการดิจิทัลรายใหม่ที่ต้องการประกอบธุรกิจจาก depa 2.Smart Tourism มีการดำเนินการ Public Free Wifi ตามแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญและพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว

3.Smart Safety มีการติดตั้งกล้อง CCTV เพื่อใช้ในเรื่องของความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวการป้องกันอาชญากรรมและการจราจรมีการนำระบบรถ Mobile Unit เคลื่อนที่มาใช้ในงานของตำรวจ 4.Smart Environment มีการนำระบบ IOT Environment Sensors มาใช้ในการตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม 5.Smart Education การให้ความรู้ และอบรมด้าน Digital แก่กลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะการดำเนินการของมหาวิทยาลัยในพื้นที่ เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต เป็นต้น

6.Smart Government มีการติดตั้ง Command Center เพื่อเป็นศูนย์บัญชาการและเชื่อมต่อระบบเข้าด้วยกันเพื่อให้ผู้บริหารสามารถสั่งการแบบ Real Time ได้ ปัจจุบันมีการเชื่อมต่อระบบกล้อง CCTV เข้ากับ Command Center จากสถานีตำรวจและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและมีการเชื่อมต่อระบบ Sensors ต่าง ๆ เข้ากับ Command Center ด้วย

7.Smart Healthcare ระบบรถฉุกเฉินปฏิบัติการด้านการแพทย์ที่สามารถเชื่อมต่อระบบข้อมูล Internet และ Application ได้ ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนจังหวัดภูเก็ต ให้มีศักยภาพภาพต่อการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจสู่ยุคดิจิทัลมากขึ้น นำมาสู่การส่งเสริมการดำเนินงานโครงการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน