จนท.ย้าย “เลพัง” ดีขึ้น ลงบ่อใหญ่/เร่งหาต้นกำเนิดเพื่อจัดการให้ถูกทางส่วนประเด็นดราม่ายังมี

โพสเมื่อ : Tuesday, September 5th, 2017 : 3.33 pm

 

ย้ายจระเข้แล้ว “ เลพัง” ลงบ่อใหญ่แยกส่วนบก – น้ำ พบการเคลื่อนไหวดีขึ้น เจ้าหน้าที่ยืนยันไม่มีบาดแผล ตามที่สื่อโซเชียล ดราม่า มีแค่คราบสนิม เร่งตามหาที่มาของจระเข้เพื่อจัดการให้ถูกต้อง -ขณะที่มูลนิธิ สืบนาคะเสถียร ออกแถลงการณ์แนะนำการดูแลจระเข้

หลังจากเจ้าหน้าที่จากสำนักงานประมงจังหวัดภูเก็ต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจับจระเข้ “เลพัง” ออกจากขุมน้ำบริเวณหน้าหาดเลพัง อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา และนำมาพักฟื้นที่ ภายในบ่อ ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเขต 5 (ภูเก็ต)”  บ้านพารา ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นบ่อซีเมน โดยมีเจ้าหน้าที่ดูแลตลอดเวลา แต่ล่าสุดมีการนำภาพจระเข้ที่อยู่ในบ่อออกไปเผยแพร่ จนกลายเป็นประเด็น ดราม่า ว่าจระเข้ตัวดังกล่าวได้รับบาดเจ็บและมีเลือดไหล ทางเจ้าหน้าที่ ที่ลงพื้นที่จับจระเข้ จึงรุดเข้าไปตรวจสอบ อาการของจระเข้ดังกล่าวทันที จากการตรวจสอบพบว่า คราบที่มีลักษณะคล้ายเลือด เป็นเพียงคราบสนิมที่เกิดจากน้ำเท่านั้นไม่ใช่คราบเลือดและ จากการตรวจร่างกายไม่มีพบว่ามีอาการบาดเจ็บแต่อย่างใด

 

อย่างไรก็ตามล่าสุดวันนี้  (5 ก.ย.) เจ้าหน้าที่จากสำนักงานประมง และเจ้าหน้าที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเขต 5 (ภูเก็ต) ได้ย้ายจระเข้ ออกจากบ่อเดิม เพื่อนำไปไว้ในบ่อที่มีขนาดใหญ่ขึ้น โดยบ่อดังกล่าวมีขนาด 6 คูณ 5 เมตร ซึ่งขนาดใหญ่กว่า บ่อเดิมที่เคยเอาจระเข้ไปไว้ ภายในบ่อสามารถแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นน้ำ และส่วนที่เป็นเนินสูงขึ้นมา ซึ่งจระเข้สามารถที่จะอยู่ได้ทั้งในน้ำและขึ้นมาตากแดดได้ โดยระดับน้ำสูงไม่มานัก แต่จะทำให้จระเข้สามารถที่จะเคลื่อนไหวร่างกายได้ดีขึ้นและคล่องตัวขึ้น นอกจากนั้นบ่อน้ำดังกล่าวยังโปร่งและระบายอากาศดีขึ้น ไม่ร้อนเหมือนบ่อเดิม และเมื่อย้ายไปอยู่บ่อใหม่พบว่า การเคลื่อนไหวร่างกายดีขึ้น เพราะการที่จระเข้อยู่ในบ่อที่ไม่มีน้ำทำให้การเคลื่อนไหวร่างกายของเค้าลดลง 50 %

นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่ยังระบุว่า ขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ยังคงระบุถึงการตามแกะรอยเพื่อหาที่มาของจระเข้ตัวดังกล่าว ซึ่งเดิมทางเจ้าตั้งประเด็นที่มาของจระเข้ดังกล่าวไว้ 3 ประเด็น ประกอบด้วย 1.หลุดมาจากฟาร์มเลี้ยงหรือสวนสัตว์ 2.เป็นจระเข้จากธรรมชาติ และ 3.เป็นจระเข้ที่มีการลักลอบเลี้ยง ซึ่งขณะนี้ในประเด็นของหลุดจากฟาร์มเลี้ยงหรือสวนสัตว์ ก็ได้ตัดออกไปแล้ว เนื่องจากการตรวจสอบพบ ว่า จระเข้ที่แจ้งขออนุญาตเลี้ยงไว้ยังมีครบตามจำนวนที่ขอ ส่วนประเด็นที่มาจากธรรมชาติ หรือการลักลอบเลี้ยงกำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ ซึ่งจะต้องเร่งตรวจสอบหาที่มาให้ชัดเจนเพื่อดำเนินการกับจระเข้ให้ถูกต้องว่าจะเป็นไปในทิศทางไหน

 

อย่างไรก็ตามเมื่อวานนี้ ( 4 ก.ย.) ทางเจ้าหน้าที่จากมูลนิธิ สืบนาคะเสถียร ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพความเป็นอยู่ของจระเข้ตัวดังกล่าว แต่เป็นสภาพก่อนที่จะมีการย้ายบ่อ ซึ่งหลังจากลงพื้นที่ ทางมูลนิธิได้ออกแถลงการ มีใจความว่า “ข้อเสนอแนะกรณีการดำเนินการต่อจระเข้น้ำเค็ม จังหวัดภูเก็ต  สืบเนื่องจากวันที่ 30 ส.ค. 2560 ที่ผ่านมา มีข่าวการพบจระเข้น้ำเค็มเพศผู้ อายุ 5-8 ปี ความยาว 3 เมตรเศษ หนักประมาณ 200 กิโลกรัม ที่หาดบางเทา จังหวัดภูเก็ต และต่อมาวันที่ 1 ก.ย. 2560 ได้มีการจับจระเข้น้ำเค็มขึ้นจากแหล่งน้ำ และนำไปพักฟื้นไว้ในบ่อซีเมนต์ขนาดใหญ่ ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเขต 5 (ภูเก็ต) ตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ของกรมประมง

.

แต่ปัจจุบันจระเข้น้ำเค็มมีอาการซึมเศร้า ไม่กินอาหาร เนื่องจากปกติจะอาศัยอยู่ในน้ำและชายฝั่งที่มีลักษณะพื้นกว้าง การจับจระเข้มาพักไว้ในบ่อซีเมนต์ที่มีพื้นที่ไม่เหมาะสม ทำให้จระเข้น้ำเค็มเกิดความเครียด และส่งผลต่ออาการอื่นๆ ตามมา ในฐานะที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรเป็นองค์กรที่ทำงานด้านการอนุรักษ์ปกป้องป่าผืนใหญ่ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า และความหลากหลายทางระบบนิเวศแล้ว มูลนิธิสืบนาคะเสถียรยังให้ความสำคัญกับสิ่งมีชีวิตชนิดพันธุ์ที่สำคัญและถูกคุกคาม

จึงมีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณะชนในการร่วมกันรักษาไว้ซึ่งพันธุกรรมของสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ชนิดนี้ 1. ระยะเร่งด่วน : ควรย้ายจระเข้น้ำเค็มไปยังพื้นที่รองรับทางธรรมชาติที่เหมาะสม รูปแบบพื้นที่ปิด เพื่อการศึกษาวิจัย และเป็นการลดอาการเครียดของจระเข้ เช่น สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า หรือหน่วยงานที่มีศักยภาพเหมาะสมในการดูแลจระเข้ดังกล่าว

.

  1. ระยะยาว: ศึกษาทางเลือกในการปล่อยคืนพื้นที่ธรรมชาติในพื้นที่ที่เหมาะสม เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูชนิดพันธุ์จระเข้น้ำเค็ม ซึ่งเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่มีถิ่นอาศัยกระจายอยู่ในเขตอินโด-แปซิฟิก ตั้งแต่อ่าวเบงกอล หมู่เกาะอันดามัน เขตประเทศอาเซียนทั้งหมด ไปจนถึงตอนเหนือออสเตรเลีย และจากการจัดสถานภาพของจระเข้น้ำเค็มในประเทศไทยอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered-CR)

 

  1. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีบทบาทสำคัญในการรักษาแหล่งพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต ซึ่งจระเข้น้ำเค็มประสบกับสถานภาพอันน่าเป็นห่วง ประกอบไปด้วยจำนวนประชากรที่มีน้อยลงมาก อีกทั้งถิ่นอาศัยลดลง จึงควรมีการบูรณาการการดำเนินงานอย่างมีส่วนร่วมกับกรมประมง เพื่อดูแลรักษาและปล่อยคืนพื้นที่ธรรมชาติ รวมถึงการศึกษาวิจัยเพื่อหาทางเลือกที่เหมาะสมตามข้อที่ 2

 

  1. ควรเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนได้รับทราบเกี่ยวกับจระเข้น้ำเค็ม รวมถึงบทบาทความสำคัญของจระเข้ในธรรมชาติที่นอกจากจะช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศแล้ว ยังมีโอกาสส่งเสริมเรื่องของการท่องเที่ยว เอื้อให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนของมนุษย์กับสัตว์ป่า ซึ่งมีตัวอย่างในหลายๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ พม่า เป็นต้น