ภูเก็ตเฝ้าระวังอุบัติเหตุช่วง 7 วันอันตรายตาย 3 คน อุบัติเหตุเกิดขึ้น 57 ครั้ง ยึดรถกว่า 231 คัน

โพสเมื่อ : Monday, April 18th, 2016 : 11.32 pm

เมื่อเวลา 09.00 น. วันนี้ (18เม.ย.) ที่ห้องประชุมศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 18 ภูเก็ต ดร.ประเจียด อักษรธรรมกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานปิดศูนย์การป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนและทางทะเล ช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2559 โดยมี ว่าที่ ร.ต.ตระกูล โทธรรม ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 18 ภูเก็ต นายสมัคร เลือดวงหัด ผู้อำนวยการแขวงการทางจังหวัดภูเก็ต นายแพทย์บัญชา ค้าของ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต หัวหน้าส่วนราชการ ตลอดจน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม

1DSC_2930

ซึ่งคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้มีมติให้ศูนย์การความปลอดภัยทางถนนทุกจังหวัด ดำเนินกิจกรรมการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงสงกรานต์ปี 2559 ในระหว่างวันที่ 11-17 เม.ย.2559 รวม 7 วัน เป้าหมายเพื่อให้ลดจำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้เสียชีวิต และจำนวนผู้บาดเจ็บ (Admit) จากช่วงสงกรานต์ปี 2559ให้เหลือน้อยที่สุด

สำหรับแนวทางในการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนและทางทะเล ช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2559 จังหวัดภูเก็ต ได้แก่

1.การปรับแผนในการเพิ่มจุดตรวจจาก 10 จุด ตรวจในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559 เป็น 17 จุดตรวจในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2559 ภายใต้มาตรการ “1 ตำบล 1 จุดตรวจ”

2.การใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มค้น ภายใต้มาตรการ “1 จุดตรวจ 100 ใบเสร็จปรับไม่สวมหมวกนิรภัย/วัน”

3.การตรวจติดตามการปฏิบัติงานของแต่ละจุดอย่างเต็มรูปแบบภายใต้มาตรการ “1 กระทรวง ห่วงใย ใส่ใจ 1 จุดตรวจ” โดยตรวจเยี่ยมจุดตรวจเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและติดตามผลการดำเนินงานของจุดตรวจ รับทราบปัญหา และเสนอแนวทางการแก้ไขในวันถัดไปในที่ประชุม ณ ห้องประชุมศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 18 ภูเก็ต ตลอดระยะทั้ง 7 วัน

4.การรายงานผลการดำเนินงานช่วงเทศกาลสงกรานต์ตามคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 46/2558 (การตรวจยึดรถ)

2DSC_2939

ดร.ประเจียด อักษรธรรมกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า สถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงรณรงค์ทั้ง 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 11 – 17 เม.ย.2559 พบว่า สถิติการเกิดอุบัติเหตุเท่ากับช่วงรณรงค์เทศกาลสงกรานต์ปี 2558 แต่จำนวนผู้บาดเจ็บและจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับการรณรงค์ช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2558 ซึ่งการเกิดอุบัติเหตุสะสมช่วง 7 วัน คือ การเกิดอุบัติเหตุ 57 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 62 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2558 จำนวน 4 คน และเสียชีวิต 3 คนเท่ากับปีที่ผ่านมา สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุเกิดจาก เมาสุรา เป็นส่วนใหญ่  ขณะที่ข้อมูลการบังคับใช้กฎหมายตามมาตรการ 10 ข้อหาหลัก (10รสขม) มาตรการที่ถูกดำเนินคดีสูงสุด 3 อันดับแรก

1.ไม่สวมหมวกนิรภัย จำนวน 4,871 ราย

2.ไม่มีใบขับขี่ จำนวน 2,422 ราย

3.ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย จำนวน 486 ราย

ซึ่งพฤติกรรมเสี่ยงสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา สาเหตุความผิดตามมาตรการสูงสุด ได้แก่ ไม่สวมนิรภัย และเมาสุรา ประเภทยานพาหนะที่เกิดอุบัติสูงสุดได้แก่ รถจักรยานยนต์ ช่วงอายุที่ถูกดำเนินคดีสูงสุด คือ 25-29 ปี และช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือ 16.01 – 20.00 น. ในส่วนการตรวจยึดรถตามคำสั่ง คสช. ที่ 46/2558 ตลอดระยะเวลา 7 วัน จำนวนรถที่ถูกดำเนินการยึดรถมีจำนวนทั้งสิ้น 231 คัน แยกเป็น รถจักรยานยนต์จำนวน 196 คัน รถยนต์ส่วนบุคคล 33 คัน รถยนต์โดยสารสาธารณะ จำนวน 1 คัน และรถจักรยานยนต์รับจ้าง จำนวน 1 คัน

ดร.ประเจียด กล่าวต่ออีกว่า สำหรับในภาพรวมการรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนและทางทะเล ช่วงเทศกาลสงกรานต์ในครั้งนี้ จำนวนครั้งที่เกิดอุบัติเหตุเท่ากับปี 58 แต่จำนวนผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตกลับเพิ่มขึ้น แต่พบว่า การดำเนินการตามแนวทางการของจังหวัดภูเก็ตส่งสัญญาณที่ดีขึ้น ทำให้การรณรงค์ป้องและการลดอุบัติเหตุมีประสิทธิภาพในอนาคตต่อไป นอกจากนั้นได้สั่งการให้เจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 สาขาภูเก็ต เร่งดำเนินการติดตั้งกล้อง CCTV ตามท่าเทียบเรือต่างๆในจังหวัดภูเก็ตให้เร็วเสร็จภายในปี 2559 เพื่อดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปท่องเที่ยวตามเกาะต่างๆ อีกทั้งได้สั่งการให้ป้องกันจังหวัดภูเก็ตลงพื้นที่สำรวจร้านรถเช่าในจังหวัดภูเก็ต เพื่อหามาตรการป้องกันการลดอุบัติเหตุทางถนนต่อไป