เร่งแก้น้ำเสียไหลลงทะเลหาดไตรตรังภูเก็ต นักวิชาการระบุทำปะการังพัง

โพสเมื่อ : Sunday, February 11th, 2018 : 10.40 pm

ปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ นำทีมลงพื้นที่หาดไตรตรัง ติดตามแก้ปัญหาน้ำเสียที่ไหลลงหน้าหาดระยะเร่งด่วน โดยให้เทศบาลเมืองป่าตองเร่งสูบเศษตะกอนและสิ่งปฏิกูล ไปบำบัด ส่วนระยะยาวให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประสานกับองค์การกำจัดน้ำเสียศึกษาวิจัยและแก้ปัญหาทั้งระบบอย่างยั่งยืน ย้ำทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วม ขณะที่นักวิชาการระบุความดำของน้ำจะเริ่มเจือจางแต่ทิ้ง ตะกอนบนแนวปะการัง

เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2561 นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต, นายโสภณ ทองดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.), ดร.พรศรี สุทธนารักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 15 ภูเก็ต, นางสาวเฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง  และ เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่บริเวณหาดไตรตรัง  ต.ป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต เพื่อตรวจสอบสภาพปัญหาน้ำทะเลบริเวณชายหาด ซึ่งมีสีดำและส่งกลิ่นเหม็นในช่วง 2 – 3 วันที่ผ่านมา ตรวจสอบเบื้องต้นพบ ว่า มีสาเหตุมาจากน้ำเสียซึ่งถูกปล่อยลงมาในคลองปากบาง ก่อนจะไหลลงสู่ทะเลและถูกคลื่นซัดเข้ามายังหาดไตรตรัง ซึ่งเป็นอ่าวปิดทำให้เกิดการหมักหมม และตกตะกอน จนส่งผลกระทบต่อทรัพยากรสัตว์น้ำ และภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยว

นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า หากดูโดยกายภาพที่มองเห็นได้ จะพบว่าบริเวณหาดทรายจะมีตะกอนสีดำๆ  ที่เกิดจากการสะสมและส่งกลิ่นเหม็น สาเหตุหลักมาจากน้ำเสีย ซึ่งทราบว่าเมื่อช่วง 2 -3 วันที่ผ่านมา มีน้ำเสียที่ล้นออกมาจากโรงบำบัดน้ำเสียของเทศบาลเมืองป่าตอง เนื่องจากเกินขีดความสามารถที่จะรองรับได้ โดยไหลลงมายังคลองปากบางก่อนที่จะไหลลงสู่ทะเล และ ถูกกระแสลมและกระแสคลื่นพัดเข้ามายังหาดไตรตรังซึ่งเป็นอ่าวปิด จึงทำให้พัดออกมาทะเลด้านอกได้ยาก จึงเกิดการสะสมและมีการเน่าเสียของตะกอน


“การแก้ปัญหาเบื้องต้นเฉพาะหน้า ที่ได้มีการหารือกับนายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง จะเร่งดูดเอาตะกอนสีดำออกจากชายหาด แต่ สิ่งสำคัญ คือ จะต้องไม่ปล่อยน้ำเสียลงมาอีก ขณะเดียวกัน ก็ต้องแก้ปัญหาที่เป็นสาเหตุหลัก คือ ระบบบำบัดน้ำเสีย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการขยายระบบเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้รองรับปริมาณน้ำเสียได้อีกวันละ 9,000 ลูกบาศก์เมตร จากปัจจุบันที่รับได้ 21,000 ลูกบาศก์เมตร รวมเป็น 30,000 ลูกบาศก์เมตร โดยปัจจุบันมีปริมาณน้ำเสียที่เกินขีดความสามารถอยู่วันละประมาณ 4,000-5,000 ลูกบาศก์เมตร แต่เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นในจุดนี้ก็จะต้องเข้าไปดูแลแหล่งกำเนิดมลพิษทุกส่วนด้วย

ซึ่งทางจังหวัด โดยสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  และ เทศบาล จะได้ร่วมกันตรวจสอบ ว่า โรงแรมใดที่มีระบบบำบัดน้ำเสียและไม่ดูแลระบบของตัวเอง ก็จะมีการบังคับใช้กฎหมาย ขณะเดียวกันโรงแรมที่บำบัดแล้วและได้ตามมาตรฐานก็จะขอความร่วมมือให้นำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วไปใช้ประโยชน์ เพื่อลดการนำน้ำเสียเข้าสู่ระบบของระบบเทศบาลเมืองป่าตอง”

ขณะที่นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงการแก้ปัญหาน้ำเสียในภาพรวมของจังหวัดภูเก็ต ว่า ทางจังหวัดได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาโดยตลอด และได้สั่งการให้สำรวจขีดความสามารถการบำบัดน้ำเสียของแต่ละท้องถิ่น เช่น เทศบาลตำบลกะรน เทศบาลเมืองป่าตอง เทศบาลนครภูเก็ต เป็นต้น พร้อมทั้งได้ประสานกับทางองค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.)  เพื่อให้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำระบบบำบัดน้ำเสียขนาดเล็กในแต่ละชุมชนที่มีพื้นที่สาธารณะ และ ท้องถิ่นสามารถลงทุนได้เองในวงเงิน ประมาณ 30 – 50 ล้านบาท เพราะการจะหาพื้นที่ขนาดใหญ่ นั้นเป็นไปได้ยาก  ขณะเดียวกันก็ต้องขอความร่วมมือผู้ประกอบการโรงแรม ในการใช้ระบบบำบัดน้ำเสีย  เพราะการแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้เกิดความยั่งยืน จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคราชการ ภาคเอกชน และภาคประชาชน

ขณะที่ ดร.วิภาวี ดำมี อาจารย์คณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตภูเก็ต ซึ่งรับผิดชอบโครงการฟื้นฟูปะการังอ่าวป่าตอง กล่าวว่า  จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า สภาพน้ำบริเวณดังกล่าวค่อนข้างจะวิกฤต แม้ว่าความดำของน้ำจะเริ่มเจือจางตามสภาพธรรมชาติ แต่สิ่งที่ทิ้งไว้ คือ ตะกอน ซึ่งไม่สามารถคาดเดาได้ว่ามีปริมาณมากน้อยเพียงใด แต่ก็พอจะเปลี่ยนแปลงสภาพใต้ท้องทะเลให้กลายเป็นสีเหลืองหรือสีน้ำตาลได้ สังเกตจากก้อนหินที่อยู่ใต้น้ำจะมีตะกอนหนาสีน้ำตาลส้มเคลือบอยู่แทบทุกก้อน และเคลือบทับปะการังเกือบทั้งหมด แต่หลังเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร ซึ่งต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง  โดยเฉพาะแนวปะการังว่าจะได้รับความเสียหายมากน้อยเพียงใด