อ่าวกุ้งมารีน่า ท่าเทียบเรือยอชต์หรู ขอถอน รายงาน EIA แล้ว “ถอยเพื่อหยุด หรือเดินหน้าต่อ” 

โพสเมื่อ : Tuesday, October 23rd, 2018 : 11.15 am

อ่าวกุ้งมารีน่า ท่าเทียบเรือยอชต์หรู มูลค่าหลายร้อยล้าน ขอถอน รายงาน EIA แล้ว หลังชาวบ้านไม่เอาด้วย หวั่นขุดลอกร่องน้ำให้เรือเข้าออก ส่งผลกระทบแนวปะการังบริเวณหน้าเกาะเฮ – ป่าชายเลน  ชาวบ้านไม่วางใจ “ถอยเพื่อหยุด หรือเดินหน้าต่อ” 

จากกรณี บริษัทซีวิว แลนด์  เตรียมเข้ามาลงทุน โครงการท่าเทียบเรือสำราญและกีฬาอ่าวกุ้งมารีน่า ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ หมู่ที่ 9 ตำบลป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ในพื้นที่  108ไร่ แบ่งการลงทุนออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นท่าเทียบเรือยอชต์ หรือมารีนา และส่วนพื้นที่บริการเรือยอชต์ โดยในส่วนของมารีนาถูกออกแบบให้สามารถรองรับเรือยอชต์ได้ 72 ลำ ตั้งแต่ขนาดความยาวเรือ 18 เมตร ไปจนถึง 40 เมตร ซึ่งบนสะพานเทียบเรือจัดให้มีหลักผูกเรือ ระบบจ่ายน้ำ ระบบไฟฟ้าสำหรับเรือยอชต์ ส่วนพื้นที่บริการจะตั้งอยู่บริเวณทางด้านทิศใต้ของพื้นที่โครงการ ซึ่งภายในพื้นที่จะมีบริการงานทาสีท้องเรือ งานไม้ งานซ่อมแซมบำรุงเครื่องยนต์ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อเรือยอชต์ทั้งหมด

โดยมอบหมายให้ บริษัท เอ็นริช คอนซัลแตนท์ จำกัด ผู้ทำการศึกษาและจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งหลังจากทำการศึกษา EIA ทางบริษัทก็ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาแล้ว 2 ครั้ง แต่อย่างไรก็ตามหลักจากที่มีการรับฟังความเห็นปรากฎ ว่า ประชาชนในพื้นที่หมู่ที่ 9 และ พื้นที่ใกล้เคียงเกิดข้อกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการลงทุนก่อสร้างอ่าวกุ้งมารีน่า โดยเฉพาะในประเด็นการขุดลอกร่องน้ำที่จะใช้เป็นทางเข้าออกของเรือไปยังโครงการ ที่คาดว่าจะต้องขุดลึกไม่น้อยกว่า 8 เมตร เพื่อรองรับเรือยอชต์ขนาดใหญ่ 40 เมตร จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของแนวปะการังในพื้นที่รอบๆ อ่าวกุ้งได้ ที่กำลังฟื้นตัวกลับมา รวมทั้งระบบนิเวศป่าชายเลน และป่าชายเลนที่อาจจะถูกทำลาย

หลังจากนั้น ชาวบ้านและกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ออกมาเคลื่อนไหวแสดงความเป็นห่วง ว่า การลงทุนก่อสร้างอ่าวกุ้งมารีน่า จะส่งผลกระทบต่อแนวปะการังหน้าเกาะเฮ บ้านอ่าวกุ้ง ประมาณ 2 ไร่เศษ ซึ่งอยู่ห่างจากจุดที่ตั้งโครงการประมาณ 2 กิโลเมตร จากการขุดลอกร่องน้ำเพื่อให้เรือยอชต์เข้าออก ภายในโครงการได้ และป่าชายเลน ที่อยู่ติดกับโครงการ มารีน่าที่จะมีการก่อสร้าง

จนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงไปสำรวจพื้นที่ และแนวปะการัง พบพื้นที่ดังกล่าวมีแนวปะการังในกลุ่มปะการังโขด (Poritesspp.) ปะการังเขากวาง (Acropora spp.) ปะการังดอกไม้ทะเล (Goniopora sp.) ปะการังรังผึ้ง (Goniastrea sp.) ปะการังวงแหวน (Favia spp.) ปะการังช่องเหลี่ยม (Favites spp.) แซ่แดง และอื่นๆอีกจำนวนมาก โดยระบุว่าปะการังในบริเวณดังกล่าวกำลังฟื้นตัว หากมีการรบกวนจนเกิดตะกอนอาจจะส่งผลกระทบต่อแนวปะการังดังกล่าวได้

นอกจากนั้นในส่วนของผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตในขณะนั้น รวมทั้งอธิบดี และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งหลายฝ่ายเห็นด้วยกับการพัฒนาภูเก็ตเพื่อการท่องเที่ยว แต่การพัฒนาจะต้องไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อม และได้มอบหมายให่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไปศึกษาและดูรายละเอียดต่างๆ

จนกระทั่งล่าสุด เพจ “รักษ์อ่าวกุ้ง รักษ์ปะการัง ป่าชายเลน Save Aokung save the Sea” ได้ออกมาโพสต์ ข้อความเพื่อรายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการ ท่าเทียบเรือสำราญและกีฬาอ่าวกุ้งมารีน่า โดยมีใจความว่า  “กลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนชุมชนบ้านอ่าวกุ้ง ภูเก็ต ขอแจ้งความคืบหน้าโครงการท่าเทียบเรือยอช์ตอ่าวกุ้ง ดังนี้ สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.)ได้ทำหนังสือแจ้งมายังประธานกลุ่มอนุรักษ์ฯว่า ทางโครงการฯได้ขอถอน รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอแล้ว เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2561 ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอน นั่นหมายความว่า หากจะมีการกระทำหรือกิจกรรมใดใด ในพื้นที่ดังกล่าว จะต้องเริ่มต้นกระบวนการทำอีไอเอกันใหม่

กลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนชุมชนบ้านอ่าวกุ้งขอขอบคุณพี่น้องชาวภูเก็จ ผู้มีใจรักษ์ปะการัง ป่าชายเลน และทรัพยากรธรรมชาติทุกท่าน หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง อธิบดีและข้าราชการกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ได้แสดงความกังวล ความห่วงใย พร้อมทั้งร่วมแสดงพลัง จุดยืน ในการปกปักษ์รักษาทรัพยากรของชาติและของโลก

ขณะนี้ปะการังบ้านอ่าวกุ้งได้ฟื้นตัวเพิ่มมากขึ้นและเบ่งบานตามกาลเวลา  อย่างไรก็ตามเพจรักษ์อ่าวกุ้งฯยังคงทำหน้าที่สื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับทรัพยากรชายฝั่งบ้านอ่าวกุ้ง ภูเก็ต อ่าวพังงา และข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาทะเลและสิ่งแวดล้อมต่อไป ด้วยความเชื่อมั่นและศรัทธา

อย่างไรก็ตาม หลังจากมีการออกมาโพสต์ข้อความดังกล่าว หลายๆคนก็ได้เข้าไปแสดงความคิดเห็น อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการถอนรายงานผลกระสิ่งแวดล้อม EIA ที่ยื่นเข้าไป ที่สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) ว่าเป็นกลลวงหรือไม่ เพราะการถอนรายงานดังกล่าวไม่ใช่การการยกเลิกโครงการ การถอนครั้งนี้ไม่ใช่การหยุดโครงการ แต่เป็นการถอนเพื่อถอยมาตั้งหลักและเดินหน้าโครงการใหม่ อีกครั้ง ซึ่งเรื่องนี้ทางชาวบ้านและกลุ่มอนุรักษ์ฯ ยืนยันว่าจะยังคงติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิด เพราะเกรงว่าถ้ามีโครงการเกิดขึ้นจะสงผลกระทบอย่างร้ายแรงกับแนวปะการัง ระบบนิเวศน์ และป่าชายเลน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความสมบูรณ์ทั้งสัตว์ทะเล และทรัพยากรทางธรรมชาติขอบคุณภาพจากแฟนเพจ “รักษ์อ่าวกุ้ง รักษ์ปะการัง ป่าชายเลน Save Aokung save the Sea”