หวั่นปะการังเกาะเฮ บ้านอ่าวกุ้ง จ.ภูเก็ต ถูกทำลายยับ หลังเอกชนมีแผนสร้างมารีน่า

โพสเมื่อ : Friday, May 11th, 2018 : 4.22 pm

หวั่นทุ่งปะการังน้ำตื้นหน้าเกาะเฮ บ้านอ่าวกุ้ง จ.ภูเก็ต ถูกทำลาย หลังเอกชนมีแผนสร้างมารีน่าขนาดใหญ่ แต่จากการทำประชาพิจารณ์ไม่ชี้ชัดจุดเรือเข้า – ออก พร้อมระบุผลการศึกษาไม่มีแนวปะการัง ป่าชายเลน ซึ่งขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ปรากฎตลอดแนวมีแนวปะการังเขากวางรวมทั้ง แซ่ทะเล สมบูรณ์

จากกรณีบริษัทเอกชนมีการนำเสนอโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือมารีน่า ในพื้นที่บ้านอ่าวกุ้ง ต.ป่าคลอก จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นท่าเทียบเรือขนาดใหญ่จอดเรือได้จำนวน 72 ลำ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงของการทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว เป็นครั้งที่ 2 ส่วนแบบการดำเนินโครงการได้มีการกำหนดไว้แล้ว และยังไม่มีการยื่นขออนุญาตก่อสร้างแต่อย่างใด แต่อย่างไรก็ตามหลังจากการนำเสนอข้อมูลในการทำประชาพิจารณ์ ก็ได้มีการเคลื่อนไหวของเครือข่าวชุมชน รวมทั้งชาวบ้านและ กลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนชุมชนบ้านอ่าวกุ้ง ผ่านทางเฟซบุ๊กต่างๆ ซึ่งเป็นภาพทุ่งปะการังเขากวางในสภาพสมบูรณ์ เนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 2 ไร่ ซึ่งเป็นแนวปะการังน้ำตื้นหน้าเกาะเฮ บ้านอ่าวกุ้ง ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต รวมทั้งภาพป่าชายเลนเฉลิมพระเกียรติบ้านอ่าวกุ้ง ซึ่งระบุว่าพื้นที่ดังกล่าวอาจจะเป็นแนวในการขุดลอกร่องน้ำเพื่อให้เรือยอร์ชขนาดใหญ่ ประมาณ 40 เมตร เข้าได้ ซึ่งเรือขนาดนี้จะต้องกินน้ำลึกมาก

แต่จากการทำวิจัยของทางผู้ประกอบการมีการระบุในขอเสนอที่นำมาทำประชาพิจารณ์ว่าพื้นที่บริเวณหน้าโครงการไม่ใช่ป่าชายเลน แต่เป็นท่าเทียบเรือเก่าที่อยู่ในความดูแลของกรมเจ้าท่า และในบริเวณด้านหน้าตลอดแนวไม่มีแนวปะการัง ซึ่งชาวบ้านและกลุ่มอนุรักษ์มองว่าขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ปรากฎ จึงมีการออกมาเคลื่อนไหวในโซเชียลเพื่อเรียกร้องให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนที่จะมีอาการอนุญาตให้มีการขุดลอกร่องน้ำ เนื่องจากเกรงว่าการขุดร่องน้ำจะทำลายทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะป่าชายเลนและแนวปะการัง

จากการสอบถามกลุ่มนักอนุรักษ์ซึ่งออกมาเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องนี้ กล่าวว่า ในส่วนของกลุ่มอนุรักษ์เองไม่ได้คัดค้านเรื่องของการสร้างท่าเทียบเรือมารีน่า เพราะการก่อสร้างดังกล่าวเป็นการสร้างในที่ดินเอกชน แต่ที่ชาวบ้านเป็นห่วงและกังวล เรื่องของการขุดลอกร่องน้ำ ที่เป็นทางเข้าของเรือไปยังโครงการ ซึ่งชาวบ้านมีความเป็นห่วงในหลายประเด็นที่มีการนำเสนอของทางที่ปรึกษาโครงการเกี่ยวกับป่าชายเลย ที่จะต้องมีการขุดทางเข้าออกเพราะอยู่ติดกับป่าชายเลน ที่มีการระบุว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่ใช่ป่าชายเลนแต่เป็นท่าเรือเก่า ทั้งๆ ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำป้ายประกาศห้ามไม่ให้มีการบุกรุกป่าชายเลนไปติดตั้งไว้ นอกจากนั้นสิ่งที่ชาวบ้านกังวลอีกเรื่องคือการขุดลองร่องน้ำเพื่อเพื่อให้เรือขนาด 40 เมตรเข้าได้จะต้องขุดร่องน้ำลึกไม่ต่ำกว่า 8 เมตร แต่ในผลการศึกษาที่นำมาชี้แจงกลับไม่มีการกำหนดดีเทลเกี่ยวกับจุดที่จะขุดให้ชัดเจนว่าจะขุดจุดไหนอย่างไร ซึ่งชาวบ้านเกรงว่าจะมีวาระซ้อนเร้นเกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงอยากให้มีการระบุให้ชัดเจนว่าขุดที่จุดไหนอย่างไร เพราะเท่าที่ชาวบ้านสำรวจพบว่าตลอดแนวหน้าโครงการมีปะการังกระจายอยู่ตลอด ซึ่งนอกจากปะการังเขากวางแล้ว ใกล้กันยังพบแซ่ทะเลที่กำลังสมบูรณ์และสวยงามเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 2 ไร่

แหล่งข่าวรายเดิมระบุ ว่า ที่ผ่านมา ในพื้นที่ดังกล่าวมีแหล่งธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ไปด้วยทรัพยากรอันมีค่าและเป็นแหล่งทำมาหากินหล่อเลี้ยงชีวิตของชาวบ้าน ถ้าหาดมีการขุดลอกร่องน้ำเพื่อให้มีการเข้าออกของเรือ และถ้าหากการขุดลอกร่องน้ำ ต้องผ่านแนวปะการังก็จะทำให้ทรัพยากรถูกทำลาย และวิถีชีวิตของชาวบ้านในบริเวณนั้นๆต้องสูญหายไปด้วย ทำให้ขณะนี้มีกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบ ออกมาเรียกร้องและเคลื่อนไหวให้หน่วยงานที่กำกับดูแลอยู่ เข้ามาหาทางออกของปัญหาต่อไป

ขณะที่เมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยศูนย์วิจัย ทช. ทะเลอันดามัน ได้เผยผลการสำรวจสถานภาพแนวปะการังบริเวณอ่าวกุ้ง จ.ภูเก็ต รวมทั้งเกาะในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งเป็นบริเวณที่มีรายงานว่าจะมีโครงการสร้างท่าเทียบเรือสำราญกีฬา ซึ่งได้มีการสำรวจทั้งหมด 7 สถานี เบื้องต้นพบว่าแนวปะการังในพื้นที่ส่วนใหญ่มีการฟื้นตัวได้ดี เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลเดิมที่กรมมาสำรวจไว้เมื่อปี 2556  โดยพบว่าแนวปะการังฟื้นตัวจากสถานภาพเสียหายมาก กลับอยู่ในสถานภาพสมบูรณ์ปานกลาง 4 สถานี ได้แก่ เกาะเฮ เกาะปายู เกาะรา และเกาะแพ ส่วนที่ยังมีสถานภาพเสียหายมี 2 สถานี ได้แก่ เกาะงำ และ แหลมขาด และที่มีสถานภาพเสียหายมาก 1 สถานี คือ ชายฝั่งอ่าวกุ้ง

ปะการังที่พบโดยทั่วไป ได้แก่ กลุ่มปะการังโขด (Porites spp.) ปะการังเขากวาง (Acropora spp.) ปะการังดอกไม้ทะเล (Goniopora sp.) ปะการังรังผึ้ง (Goniastrea sp.) ปะการังวงแหวน (Favia spp.) ปะการังช่องเหลี่ยม (Favites spp.) ปัจจัยที่มีผลต่อสภาพปะการังในบริเวณนี้คือตะกอนตามธรรมชาติ เนื่องจากบริเวณนี้เป็นส่วนหนึ่งของอ่าวพังงา ล้อมรอบด้วยป่าชายเลน และลักษณะพื้นทะเลเป็นทรายปนโคลน ทำให้น้ำค่อนข้างขุ่น แนวปะการังมีการฟื้นตัวได้ค่อนข้างช้า และง่ายที่ตะกอนพื้นทะเลจะฟุ้งกระจายขึ้นมาทับถมบนปะการัง