รุกยื่นหนังสือผู้ว่าแก้ปัญหาความเดือดร้อน ผู้ประกอบการชาวภูเก็ต-ผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้าง

โพสเมื่อ : Thursday, July 6th, 2017 : 3.10 pm

ตัวแทนผู้ประกอบการชาวภูเก็ตจับมือชมรมผู้ประกอบการธุรกิจรับเหมาจังหวัดภูเก็ต ยื่นหนังสือกับ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต แก้ปัญหาความเดือดร้อน อ้างได้รับผลกระทบจากการออกพระราชกำหนดการบริหารการจัดการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ของกระทรวงแรงงาน

เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (6ก.ค.) ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายประศาสตร์ บุญตันตราภิวัฒน์ ตัวแทนผู้ประกอบการชาวภูเก็ต พร้อมด้วย นายวีระชัย เสดสม ประธานชมรมผู้ประกอบการธุรกิจรับเหมาจังหวัดภูเก็ต และสมาชิกกว่า 20 คน เดินทางมาเข้าพบ นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เพื่อยื่นหนังสือขอความอนุเคราะห์ในการแก้ปัญหาความเดือดร้อน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการออกพระราชกำหนดการบริหารการจัดการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ของกระทรวงแรงงาน โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าว พร้อมนำเสนอปัญหาความเดือดร้อนและแนวทางการแก้ไข โดยมี นายธีระ อนันตเสรีวิทยา รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ผู้แทนจัดหางานจังหวัดภูเก็ต ผู้แทนสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม

 

นายประศาสตร์ บุญตันตราภิวัฒน์ ตัวแทนชมรมผู้ประกอบการชาวภูเก็ต กล่าวว่า หลังจากได้มีการออก พ.ร.ก.การบริการจัดการทำงานของคนต่างด้าว พ. ศ.2560 ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2560 ซึ่งมีการเพิ่มโทษนายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายสูงสุดถึง 8 แสนบาท รวมทั้งแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายที่เข้ามาทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต จะมีโทษจำคุก 5 ปี 4 หรือปรับตั้งแต่ 2,000- 100,000 บาท เพราะส่งผลให้แรงงานส่วนหนึ่งเดินทางกลับประเทศ ทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานในการประกอบธุรกิจเป็นอย่างมาก จึงขอเรียนให้พิจารณา ให้มีการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่ยังเป็นแรงงานเถื่อน, จัดตั้งศูนย์พิสูจน์สัญชาติในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และจัดทำระบบการทำงานของสำนักงานจัดหางานจังหวัดภูเก็ตให้เป็นระเบียบและมีความรวดเร็วมากขึ้น

 

ด้าน นายวีระชัย เสดสม ประธานชมรมผู้ประกอบการธุรกิจรับเหมาจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ในส่วนของผู้ประกอบการธุรกิจรับเหมาจังหวัดภูเก็ต และผู้ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ได้รับความเดือดร้อนและผลกระทบจากการจ้างแรงงานต่างด้าว อันเนื่องมาจากการออก พ.ร.ก.การทำงานของคนต่างด้าว ฯ ดังกล่าว  เพราะทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยขอให้รัฐบาลเปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวรอบใหม่ เพื่อผ่อนคลายภาวการณ์ขาดแคลนแรงงาน

 

ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยมีแรงงานต่างด้าวอยู่ 3 กลุ่ม คือ แรงงานต่างด้าวที่ไม่มีเอกสารหรือที่เรียกว่าแรงงานต่างด้าวเถื่อน  โดยรัฐบาลพยายามแก้ปัญหาโดยนำเข้าสู่กระบวนการเอ็มโอยู แต่ยังมีปัญหา คือ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสูง ได้แรงงานที่ไม่มีฝีมือ และเมื่อเข้ามาแล้วมักจะมีการหลบหนีไม่อยู่กับนายจ้างคนเดิม เป็นต้น จึงอยากให้รัฐบาลเปิดขึ้นทะเบียนแรงงานอีกรอบ เพื่อแก้ปัญหาเบื้องต้น กลุ่มแรงงานต่างด้าวที่มีเอกสารถูกต้องครบถ้วน และแรงงานต่างด้าวที่มีเอกสารแต่ยังไม่ถูกต้อง

นอกจากนี้ยังมีปัญหาในกระบวนการออกเอกสารของกรมจัดหางานที่มีผลกระทบกับผู้ประกอบการและแรงงานต่างด้าวคือ การขอใบอนุญาตจ้างแรงงานต่างด้าวหรือโควตา ค่อนข้างใช้เวลาในการอนุมัตินาน, ขั้นตอนการขออนุญาตทำงานให้แก่แรงงานต่างด้าว แม้จะมีการออกใบแทนระหว่างรอใบจริงไม่ชัดจน จึงทำให้ถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐจับกุม และการขอเพิ่มสถานที่ทำงานในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ทางจัดหางานภูเก็ตได้ตั้งระเบียบปฏิบัติให้ผู้ประกอบการในการยื่นขอเพิ่มสถานที่ทำงานทั้งจังหวัดจะต้องมีสัญญาก่อสร้างครบทั้ง 3 อำเภอ แต่ความจริงไม่สามารถทำได้

 

รวมถึงการตีความคำว่า กรรมกร ซึ่งมีผลกระทบต่อการจ้างงาน เพราะกฎหมายแรงงานกำหนดว่าในการจ้างแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมาร์ ลาวและกัมพูชา จะใช้แรงงานต่างด้าวเหล่านี้ได้ในส่วนของกรรมกรและรับใช้ในบ้านเท่านั้น แต่ความเป็นจริงแล้วในส่วนของภาคก่อสร้างเราได้ใช้แรงงานเหล่านี้ในรูปแบบกึ่งช่าง คือ มีความสามารถมากกว่า การแบกหามขุดดินยกของ ซึ่งปัจจุบันไม่มีแรงงานไทยทำงานในส่วนนี้ แต่ผู้ประกอบการไม่สามารถใช้แรงงานเหล่านี้ได้อย่างถูกต้อง เนื่องจากเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐบางหน่วยเข้ามาตรวจสอบและจับกุมแรงงานในขณะทำงาน โดยแจ้งว่าเป็นอาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ จึงขอความอนุเคราะห์จากรัฐบาลให้เข้ามาแก้ปัญหาในในส่วนนี้ด้วย

 

ขณะที่ นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า หลังจากนี้ตนจะสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเก็บรวบรวมข้อมูลประเด็นปัญหาต่างๆ และแนวทางการแก้ไขที่ได้รับการนำเสนอจากผู้ประกอบการทั้งหมด มาหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้งในเร็วๆ นี้ เพื่อสรุปประเด็นปัญหาความต้องการของผู้ประกอบการนำเสนอรัฐบาลต่อไป

 

ซึ่งในส่วนของจังหวัดมีความเข้าใจในปัญหาของผู้ประกอบการเป็นอย่างดี เบื้องต้นจะได้ให้สำนักงานจัดหางานฯ ได้ทำแผนผังขั้นตอนในการขออนุญาตทำงาน ของคนต่างด้าว เพื่อให้เกิดความชัดเจน ซึ่งในส่วนของแรงงานต่างด้าวในภูเก็ตนั้นส่วนใหญ่จะเดินทางออกนอกประเทศที่ด่านจังหวัดระนอง ก็ได้มีการประสานกันอยู่แล้ว รวมทั้งได้มีการกำชับประเด็นการเรียกรับเงินจากต่างด้าวว่า จะต้องไม่มีอย่างเด็ดขาด หากมีการตรวจพบก็จะถูกดำเนินการตามกฎหมายต่อไป