ระบุให้เช่าที่วัดแสวงหาผลประโยชน์วัดใต้ทำผิดระเบียบ

โพสเมื่อ : Saturday, November 25th, 2017 : 12.18 am

เจ้าคณะอำเภอเมืองภูเก็ต อดีตเจ้าอาวาสวัดใต้ ตรวจสอบข้อเท็จกรณีโบสถ์-พระเครื่องปลอม ระบุชัดไม่มีของปลอม ข่าวทำวัดเสียหายหนัก ขณะที่พระสงฆ์ล่องหนไม่ทำพิธีให้พร ด้านสำนักพระพุทธภูเก็ตเผยวัดทำสัญญาผิดระเบียบให้เช่าเชิงแสวงหาผลประโยชน์ต้องผ่าน พคป.ส่วนคนเช่าระบุทัวร์จีนต้องการไหว้พระ วัตถุมงคลเพื่อเสริมสิริมงคล รายได้ทุกอย่างมอบให้วัด หมดยกเว้นค่าเช่าวัตถุมงคล

 

จากกรณีการสร้างโบสถ์ปลอม ภายในวัดลัฎฐิวนาราม หรือ วัดใต้ ต.ฉลอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต โดยนักลงทุนชาวไทยได้เช่าที่ดินจากวัด ก่อสร้างเสนาสนะ คล้ายโบสถ์ และพระพรหมนำนักท่องเที่ยวชาวจีนมากราบไหว้สักการะ และนำเสนอขายวัตถุมงคล เครื่องรางของขลัง ให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีน รวมทั้งภายในโบสถ์ยังมีพระนั่งสวดมนต์ให้พร ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ มีมรรคยกทำหน้าที่เล่าสรรพคุณของพระเครื่อง เพื่อจูงใจให้นักท่องเที่ยวจีน เช่าไปบูชา พระปลอมเลี่ยมทองในราคาที่แพงกว่าท้องตลาดถึง 4 เท่านั้น

 

ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อเวลา 08.30 น.วันนี้ ( 24 พ.ย.) นายวิญญา ปลัดขวา ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย พระครูเมตตาภิรมย์ เจ้าคณะอำเภอเมืองภูเก็ต พระครูลัฎฐิธรรมรัต เจ้าอาวาสวัดลัฎฐิวนาราม ร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ในประเด็นที่เป็นข้อสงสัยของคนทั่วไป ทั้งในเรื่องของโบสถ์ปลอม พระเครื่องปลอม การจำหน่ายดอกไม้ ธูปเทียน สูงเกินจริง การให้พระสงฆ์ไม่นั่งทำพิธีประพรมน้ำพระพุทธมนต์ให้นักท่องเที่ยวจีน การบรรยายให้นักท่องเที่ยวฟัง สัญญาเช่าที่ดินวัด การหาประโยชน์ของบริษัททัวร์จีน เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ยังมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางมากับรถบัสเพื่อสักการะบูชาพระพรหมที่สร้างขึ้น และกราบไหว้พระพุทธรูปภายในเสนาสนะที่สร้างขึ้น แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ภายในอาคารเสนาสนะที่ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปกราบไหว้สักการะพระพุทธรูปและเช่าบูชาวัตถุมงคลนั้น ไม่มีพระสงฆ์มานั่งทำพิธีประพรมน้ำพระพุทธมนต์ให้กับนักท่องเที่ยวเหมือนทุกวันที่ผ่านมา รวมไปถึงในช่วงที่เข้าตรวจสอบภายในอาคารดังกล่าว ได้มีคนไทยกลุ่มหนึ่งประมาณ 6 – 7 คน ทำทีเดินเข้ามาสนใจที่จะเช่าวัตถุมงคลภายในอาคาร ซึ่งปกติแล้วไม่มีคนไทยเข้าในบริเวณดังกล่าว เพราะทราบดีกว่าเป็นสถานที่ที่สร้างขึ้นมานั้น เพื่อนำทัวร์จีนมาเช่าพระเครื่องเท่านั้น

 

พระครูเมตตาภิรมย์ เจ้าคณะอำเภอเมืองภูเก็ต อดีตเจ้าอาวาสวัดลัฏฐิวนาราม ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มให้เอกชนเช่าที่ดินวัดสร้างเสนาสนะนำทัวร์จีนเข้ามาในวัดใต้ กล่าวว่า ข่าวที่เกิดขึ้นว่ามีการสร้างโบสถ์ปลอมภายในวัดใต้นั้น ได้สร้างความเสียหายให้กับวัดเป็นอย่างมาก ภายในวัดมีแต่โบสถ์จริงเท่านั้น ไม่มีโบสถ์ปลอม อาคารที่สร้างนั้นคนข้างนอกอาจจะนึกคิดว่าเป็นโบสถ์ แต่จริงๆแล้วไม่ใช่ เป็นอาคารที่สร้างขึ้นมาให้มีลักษณะของอาคารภายในวัดเพื่อจำหน่ายวัตถุมงคลเท่านั้น และนักท่องเที่ยวที่เข้ามาภายในวัดก็ทราบว่าสิ่งที่เขาเข้าไปไหว้พระนั้นไม่ใช่โบสถ์ของวัด แต่พระพุทธรูปสามารถตั้งให้กราบไหว้บูชาได้

ส่วนวัตถุมงคลที่นำมาให้เช่าภายในอาคารดังกล่าว ทางวัดไม่ได้เป็นผู้สร้าง วัดไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องใดๆทั้งสิ้น เป็นเรื่องของผู้เช่าที่วัดที่ดำเนินการให้เช่าวัตถุมงคล ส่วนการบรรยายให้นักท่องเที่ยวฟังหลังจากลงจากรถทัวร์ก็เป็นเรื่องของบริษัททัวร์ ทางวัดไม่ทราบว่าบรรยายเรื่องอะไรบ้าง เพราะบรรยายเป็นภาษาจีนฟังไม่ออก รู้แต่ว่าคนต่างชาติเข้ามาทำบุญไหว้พระเป็นสิ่งที่ดีที่สุด มีการถวายปัจจัยบำรุงวัด มีการแต่งกายที่สุภาพเรียบร้อย หากแต่งกายไม่เรียบร้อยก็จะไม่อนุญาตให้เข้าไปไหว้พระภายในอาคารดังกล่าว

 

ส่วนกรณีที่มีพระสงฆ์เข้าไปนั่งภายในอาคาร ค่อยให้พรและประพรมน้ำพระพุทธมนต์นั้น ทางผู้เช่าที่ดินวัดได้นิมนต์ไปเพื่อให้พรและประน้ำพระพุทธมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคลของนักท่องเที่ยวที่มาไหว้พระ ไม่ได้มีผลประโยชน์อันใด ไม่มีการถวายปัจจัยแต่อย่างใด หากนักท่องเที่ยวต้องการถวายปัจจัยจะบริจาคลงในกล่องที่ตั้งอยู่ในบริเวณดังกล่าว และรายได้ที่เกิดขึ้นจากการให้เช่าที่วัด เงินจากการบริจาคของนักท่องเที่ยวจะนำไปจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ และบำรุงวัด

 

นายวิญญา ปลัดขวา ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จากการตรวจสอบการให้เช่าที่วัดใต้ พบว่าทางวัดได้มอบหมายให้นายไพโรจน์ นกบรรจง ไวยาวัจกรวัด เป็นคนทำสัญญาเช่ากับเอกชน คือ นายสมเกียรติ แก้วสกุล เช่าเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ สัญญาเช่ามีระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.60 – 31 ธ.ค.2560 ค่าเช่าเดือนละ 50,000 บาท โดยมีการต่อสัญญากันมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2556 จากการตรวจสอบพบว่าการทำสัญญาเช่าดังกล่าวผิดระเบียบการเช่าเพื่อแสวงหาผลประโยชน์นั้น ซึ่งตามระเบียบการเช่าเพื่อแสวงหากำไรจะทำสัญญาปีต่อปีก็ต้องผ่านการเห็นชอบของคณะกรรมการการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาศาสนะสมบัติกลางประจำ (พศป.) ซึ่งในเรื่องนี้จะแจ้งให้ทางวัดรับทราบเพื่อดำเนินการให้ถูกต้อง และเสนอขอความเห็นไปยังสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติว่า จะให้ดำเนินการอย่างไรในช่วงที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมาย จะให้ดำเนินการต่อหรือหยุดดำเนินการ

 

นายวิญญา กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม จะมีการตรวจสอบในเชิงลึกทั้งในเรื่องของการให้เช่าที่วัด การนำวัตถุมงคลมาจำหน่ายภายในวัดว่ามีแหล่งที่มาหรือไม่อย่างไร การให้พระสงฆ์มานั่งให้พรและประพรมน้ำพระพุทธมนต์ในสถานที่ที่สร้างขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องของคณะสงฆ์และพระธรรมวินัย ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินการของวัดใต้เป็นกรณีศึกษาในการนำไปดำเนินการในวัดอื่นๆ ต่อไป หากเกิดปัญหาในลักษณะเดียวกัน โดยเฉพาะในเรื่องของการจำหน่ายวัตถุมงคลนั้นได้มอบหมายให้ทางวัดเข้าไปดำเนินการตรวจสอบว่าเป็นวัตถุมงคลปลอมตามที่เป็นข่าวหรือไม่ เพราะการตรวจสอบวัตถุมงคลนั้นไม่ได้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักพระพุทธฯ ผู้ที่ให้เช่าพื้นที่จะต้องเข้าไปควบคุมดูแลว่าคนเช่าดำเนินการอะไรที่ผิดกฎระเบียบหรือไม่

ผอ.สำนักพระพุทธฯ กล่าวว่า สำหรับรายได้ที่เกิดจากการประกอบการทัวร์จีนภายในวัดนั้น ทราบจากทางวัดว่า ในส่วนของการจำหน่ายดอกไม้ ธูปเทียน และเงินจากตู้รับบริจาค ทางผู้เช่าได้มอบให้กับวัดทั้งหมด

 

ด้านนายสมเกียรติ แก้วสกุล ผู้เช่าที่วัดและเจ้าของ บริษัท พุทธธรรม จำกัด กล่าวว่า บริษัทได้เข้ามาเช่าที่ดินวัดใต้ และก่อสร้างเสนาสนะถวายให้กับวัด พร้อมกับนำนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาไหว้พระที่วัดดังกล่าวมาเป็นเวลาประมาณ 10 ปี จากความต้องการของนักท่องเที่ยวจีนที่มาภูเก็ตแล้วยากจะไหว้พระ แต่ทางบริษัททัวร์ไม่สามารถที่จะนำไปไหว้พระในวัดได้ เนื่องจากวัฒนธรรมของคนจีนไม่เหมือนกับคนไทยในหลายเรื่องๆ จึงได้มาคุยกับทางวัดใต้และเช่าที่ดินวัด สร้างเสนาสนะหลังดังกล่าวขึ้น เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาไหว้พระ โดยดูแลให้เป็นไปตามวัฒนธรรมอันดีงามของไทย ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นการแนะนำวัฒนธรรมไทยให้นักท่องเที่ยวรู้จัก และซึมซับถึงวัฒนธรรมไทยอีกด้วย จึงได้สร้างอาคารให้มีความคล้ายคลึงและใกล้เคียงวัดมากที่สุด

 

โดยในแต่ละวันจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเฉลี่ยวันละ 60 – 80 คัน การดำเนินธุรกิจดังกล่าว ได้ร่วมลงทุนกับนักลงทุนคนไทยเชื้อสายจีนในการส่งนักท่องเที่ยวเข้ามายังวัดใต้ ซึ่งรายได้ที่เกิดจากนักท่องเที่ยวจีนนั้น ทางบริษัทได้เฉพาะในส่วนของการให้เช่าบูชาวัตถุมงคลเท่านั้น ส่วนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการจำหน่ายดอกไม้ ธูปเทียน และเงินจากกล่องรับบริจาคจะมอบให้ทางวัดทั้งหมด

 

นายสมเกียรติ ระบุต่อว่า เมื่อนักท่องเที่ยวลงจากรถบัส ไกด์ก็จะแนะนำว่าที่นี้เป็นวัดซึ่งก็เป็นวัดจริงๆ เพราะอาคารที่สร้างขึ้นมานั้นอยู่ในวัด แต่โดยทั่วไปแล้วคนจีนจะนับถือและศรัทธาพระพรหมมาก คนจีนที่มาวัดไหว้พระอยากได้ความเป็นสิริมงคล จึงมาไหว้พระขอพร และหาเช่าวัตถุมงคลในสร้างโชคลาภ แต่ไม่ได้หมายความว่าคนจีนทั้งหมดที่มากับรถบัสจะลงไปไหว้พระและเช่าบูชาวัตถุมงคล บางคนก็ไม่ลงมาไหว้พระและเช่าวัตถุมงคลก็มี

สำหรับวัตถุมงคลที่ระบุว่า เป็นพระปลอมนั้น นายสมเกียรติ ชี้แจงว่า ขอยืนยันว่าวัตถุมงคลที่นำมาให้นักท่องเที่ยวจีนเช่าบูชานั้นเป็นวัตถุมงคลที่เป็นของจริงทั้งหมด ที่ผ่านการปลุกเสกมาแล้วทั้งนั้น โดยทางบริษัทไม่ได้เป็นคนจัดหาวัตถุมงคลเอง แต่จะมีเซียนพระจากที่ต่างๆ นำมาให้อีกทอดหนึ่ง ซึ่งจะมีใบอนุโทนาจากวัดต่างๆ มาด้วย สามารถตรวจสอบได้

 

“พระเครื่องหรือวัตถุมงคลที่คนจีนถามหาจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับกระแสว่า ในขณะนี้มีพระองค์ใดดังบ้าง และอยู่ในกระแสของเซียนพระ ซึ่งตอนนี้ที่นิยมมาก คือ สาลิกาลิ้นทอง หลวงพ่อคูณ เป็นต้น ส่วนราคานั้นไม่ได้สูงอย่างที่เป็นข่าว ราคาจะเริ่มตั้งแต่ 1 พันบาทไปจนถึง 1 หมื่นบาท และราคาที่เราตั้งนั้นเป็นราคาที่รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมด นักท่องเที่ยวจะเช่าหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจ ไม่มีการบังคับให้เช่า”

 

ส่วนพระสงฆ์ที่มานั่งให้พรนั้น ทางเราได้นิมนต์มาทำพิธีให้พรและประพรหมน้ำพระพุทธมนต์ แต่หลังจากที่มีกระแสข่าวเกิดขึ้น จึงได้ยกเลิกการนิมนต์พระสงฆ์ เพราะไม่แน่ใจว่าผิดหรือถูก อะไรที่ไม่แน่ใจเราจะไม่ดำเนินการ ทุกอย่างจะทำให้อยู่ในกรอบตามกฎระเบียบทั้งหมด

 

นายสมเกียรติ กล่าวในตอนท้ายว่า รายได้ทั้งหมดที่เกิดจากการดำเนินการของบริษัทจะยกให้วัดทั้งหมด ที่เป็นรายได้ของบริษัทมีเพียงการให้เช่าวัตถุมงคลเท่านั้น