รอเก้อสุดท้ายเต่าตนุแท้งก่อนเกิด 87 ฟอง ฟักแค่ 1 คาดอุณหภูมิผิดปกติ

โพสเมื่อ : Thursday, September 14th, 2017 : 4.23 pm

แท้งก่อนเกิด  87 ฟอง ลืมตาดูโลก แค่ 1 ตัว เจ้าหน้าที่กลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ลงพื้นที่ตรวจสอบไข่เต่าตะนุบนเกาะราชา พบมีการผสมและพัฒนาการได้ระยะหนึ่ง แต่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศทำให้หยุดการเจริญเติบโต ขณะที่ลูกเต่าที่เหลือรอดแค่ตัวเดียวได้ชื่อแล้ว “เจ้าบุญรอด” ต้องแยกเลี้ยงเหตุเป็นเต่าตัวเล็กที่สุดในศูนย์ฯ

จากกรณีเมื่อวันที่ 14 ก.ค. ที่ผ่านมา พนักงานโรงแรมเดอะ ราชา พบร่องรอยเต่าทะเลขนาดใหญ่คลายขึ้นมาบริเวณชายหาด เกาะราชา ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต และมีร่องรอยการเดินไปสิ้นสุดที่ที่กำแพงกันคลื่นด้านหน้าโรงแรม รวมทั้งพบร่องรองการกลบหลุม ซึ่งคาดว่าเต่าน่าจะขึ้นมาวางไข่บริเวณดังกล่าว จึงแจ้งให้เจ้าหน้าที่ กรมทรัพยากรทางทะเล และ ชายฝั่ง ส.บ.ท.ช.6 เข้าตรวจสอบ และจัดเก็บไข่เต่าทะเลที่แม่เต่าขึ้นมาวางไข่ไปไว้ในที่ปลอดภัย เนื่องจากจุดที่เต่าทะเลวางไข่เป็นจุดที่น้ำทะเลท่วมถึง และมีคนพลุกพล่าน ซึ่งเป็นพื้นที่ไม่เหมาะสม

ทางเจ้าหน้าที่จึงขุดไข่เต่าในรังดังกล่าวเพื่อย้ายไปเพาะฟักในจุดที่ปลอดภัย ซึ่งจากการ ตรวจสอบพบว่า มีไข่เต่าทะเลจำนวน 94 ฟอง แต่แตกไป 7 ฟอง คงเหลือ 87 ฟอง ซึ่งในการย้าย ไข่เต่าครั้งนี้ ทางชมรมฯ ได้แจ้งกับเจ้าหน้าที่ฯ ว่า ขอให้มีการเพาะฟักไว้บนเกาะ จนกระทั้ง วันที่  8 ก.ย. ที่ผ่านมา เป็นที่น่ายินดี เมื่อชาวบ้านพบลูกเต่าทะเลฝักออกจากไข่มาจำนวน 1 ตัว ซึ่งสร้างความตื่นเต้นให้กับชาวบ้านและเจ้าหน้าที่เป็นอย่างมาก เนื่องจากชาวบ้านเฝ้ารอมามานานถึง 57 วัน ลูกเต่าตัวที่ 2 ตัวที่ 3 จนถึงตัวที่ 87 จะลืมตาออกมาดูโลกเหมือนกัน แต่สุดท้ายชาวบ้าน และเจ้าหน้าที่ก็ต้องผิดหวังเมื่อระยะเวลาการเฝ้ารอผ่านมานานถึง 4 วัน ก็ไม่ทีท่าว่าจะมีลูกเต่าออกมาลืมตาดูโลกเพิ่ม

ทางเจ้าหน้าที่จากกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน  จึงตัดสินใจลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบไข่เต่าตนุที่นำไปเพาะฟัก เพื่อหาสาเหตุที่ไข่เต่าไม่ฟักออกมาเป็นตัว โดยมีการรายงานระบุ ว่า  จากการแกะไข่เต่าทั้งหมดที่ไม่มีการเพาะฟักเป็นตัว จำนวน 86 ฟอง พบไข่ทั้งหมดได้รับการผสมและมีการพัฒนามาได้ระยะหนึ่ง โดยพบว่าไข่เต่าตนุจำนวน 2 ฟอง มีจุดสีแดง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไข่เต่าตนุได้มีการพัฒนาระบบเลือดซึ่งใช้เวลาประมาณ 10 วัน

ส่วนไข่เต่าตนุที่เหลือหยุดการพัฒนาก่อน 10 วัน ทำให้ไข่เต่าไม่ฟักออกมาเป็นตัว จากข้อสันนิษฐานที่ทำให้ไข่เต่าหยุดการพัฒนา พบว่า อาจจะมีหลายปัจจัย ด้วยกัน เช่น ความชื้น อุณหภูมิ จุลินทรีย์ในทราย ซึ่งในช่วงที่มีการเพาะฟักไข่เต่าพบว่าเป็นช่วงมรสุมของภูเก็ต มีทั้งฝนตกหนัก แดดแรง ซึ่งเรื่องของอุณหภูมิถือว่าเป็นตัวแปรที่สำคัญที่สุดในการที่จะทำให้ไข่เต่าฟักออกมาเป็นตัวหรือไม่

อย่างไรก็ตามสำหรับอัตราการฟักตัวของของไข่เต่าครั้งนี้ถือว่ามีอัตราการฟักตัวต่ำ แต่กรณีไข่เต่าทะเลมีอัตราการฟักต่ำสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกที่ เช่น แหล่งวางไข่เต่าทะเลที่สำคัญ ที่เกาะสุรินทร์ พบว่าในปี 2552 มีเต่าขึ้นมาวางไข่จำนวน 5 รัง มีอัตราการฟัก 0 %, เกาะพระทอง ในปี 2558 มีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ จำนวน 3 รัง มีอัตราการฟัก 0 %, เกาะสิมิลัน ปี 2558 มีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ จำนวน 29 รัง มีอัตราการฟัก 0 %,

ส่วนทางฝั่งอ่าวไทย ได้แก่เกาะคราม จังหวัดชลบุรี ปี 2559 มีเต่าขึ้นวางไข่ จำนวน 137 รัง มีอัตราการฟัก 0 % ซึ่งไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัดว่าเกิดจากปัจจัยหลักมาจากสาเหตุใด แต่ที่แน่ๆ ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางธรรมชาติ เช่น ถ้าความชื้นในทรายน้อยเกินไปทำให้อุณหภูมิในหลุมเพาะฟักสูงเกิน 35 องศา ก็เป็นสาเหตุทำให้ไข่หยุดการพัฒนาได้ หรือช่วงเวลาดังกล่าวมีฝนตกชุกมากเกินไป ทำให้ความชื้นในหลุมเต่ามากอุณหภูมิในการเพาะฟักต่ำ กว่า 25 องศาเซลเซียส ก็ทำให้ไข่เต่าหยุดการพัฒนา ส่วนสาเหตุจากการเคลื่อนย้ายไข่เต่าตนุ ครั้งนี้เนื่องจากสภาพชายหาดในธรรมชาติไม่เหมาะสมเพราะชายหาดมีกำแพงแนวกันคลื่นปิดกันดังนั้นทำให้ต้องย้ายไข่เต่าทั้งหมดมาเพาะฟักในพื้นที่ไม่โดยน้ำทะเลท่วมถึงและมีเจ้าหน้าที่ดูแลได้ทั่วถึง

ขณะที่ลูกเต่าตนุที่ฟักออกมา 1 ตัว ขณะนี้เจ้าหน้าที่กลุ่มสัตว์ทะเลหายากรับมาดูแลที่บ่ออนุบาลลูกเต่าทะเล จนถึงขณะนี้มีอายุ 8 วัน ยังไม่ต้องให้อาหาร เนื่องจากยังมีไข่แดงหน้าท้อง ส่วนสุขภาพทั่วไปพบว่าร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง ว่าน้ำได้ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่จะเริ่มให้ให้อาหารหลังจากอายุครบ 10 วันแล้ว โดยขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ได้ตั้งชื่อ ว่า “เจ้าบุญรอด” เนื่องจากมีชีวิตรอดและฟักออกมาจากไข่ได้เพียงตัวเดียว จากจำนวนไข่ที่นำไปเพาะฟักทั้งหมด 87 ฟอง และทางเจ้าหน้าที่จะต้องเลี้ยงเจ้าบุญรอดในบ่อที่แยกต่างหาก เนื่องจากเป็นลูกเต่าที่มีขนาดเล็กที่สุดที่มีอยู่ในขณะนี้