รองประธาน สนช.ลงพื้นที่ชาวเลไวย์ติดตามการร้องเรียนแก้ปัญหาที่ดิน

โพสเมื่อ : Wednesday, December 6th, 2017 : 5.14 pm

รองประธาน สนช.คนที่หนึ่งและคณะลงพื้นที่ชุมชนชาวเลราไวย์ จ.ภูเก็ต ติดตามกรณีร้องเรียนให้ตรวจสอบกระบวนการแก้ไขปัญหาที่ดินชุมชนชาวเล ประเด็นการสร้างเขื่อนชายหาด-การถมที่ดินปิดทางระบายน้ำสาธารณะ

วันนี้ (6 ธ.ค.) นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่หนึ่ง และคณะ เดินทางลงพื้นที่ติดตามเรื่องร้องเรียนของชุมชนราไวย์ กรณีขอให้ตรวจสอบกระบวนการแก้ไขปัญหาที่ดินชุมชนชาวเลราไวย์ ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต โดยคณะของ สนช. ได้ร่วมประชุมรับฟังบรรยายสรุปจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ผู้แทนนายอำเภอเมืองภูเก็ต ที่ดินจังหวัดภูเก็ต สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 สาขาภูเก็ต ผู้แทนชุมชนชาวเลราไวย์ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุมสำนักงานเทศบาลตำบลราไวย์ จากนั้นได้เดินทางลงพื้นที่ชุมชนชาวเลราไวย์ เพื่อศึกษาสภาพความเป็นอยู่และสภาพแวดล้อมของชุมชนฯ

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่หนึ่ง กล่าวภายหลังการลงพื้นที่ชุมชนชาวเลราไวย์ ว่า วันนี้ตนและคณะซึ่งประกอบด้วย พลโทชัยยุทธ พร้อมสุข ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พลเรือเอกวีระพันธุ์ สุขก้อน ประธานอนุกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เดินทางลงพื้นที่มาตามข้อร้องเรียนของชุมชนชาวเลราไวย์ ใน 2 ประเด็น คือ ประเด็นการก่อสร้างเขื่อนชายหาด กับประเด็นการถมที่ดินปิดทางระบายน้ำ ซึ่งเป็นคลองสาธารณะอยู่เดิม

ทั้ง 2 ประเด็น เป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือจากกรณีพิพาทเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชาวเล ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาล แต่การลงพื้นที่ในวันนี้ มาดูประเด็นความเดือดร้อนและประเด็นที่มีผลกระทบด้านนิเวศน์ทางทะเลและชายฝั่ง และผลกระทบเรื่องของสิ่งแวดล้อมเนื่องจากมีน้ำเน่าเสียท่วมขังอยู่ในบริเวณที่อยู่อาศัยของชุมชน

ผลจากการลงพื้นที่ ได้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมหลายประการ ทั้งเรื่องของการรังวัดที่ดินที่ปรากฏหลักฐานว่าแนวเขตที่ดินนั้นมีระยะห่างจากชายฝั่งทะเล เรื่องสภาพที่ดินที่มีการถม และเรื่องของคูคลองที่มีอยู่เดิม ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่สำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต นายอำเภอ ปลัดอำเภอ เทศบาล ปลัดเทศบาลตำบลราไวย์ได้ลงพื้นที่พร้อมกันเพื่อช่วยกันเก็บข้อมูล ขณะเดียวกันก็ให้ข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมกับ คณะ สนช.เพื่อที่จะได้กลับไปทำผลการลงพื้นที่ แล้วก็จะแจ้งผลการพิจารณาของ คณะ สนช.กลับไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้แก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านโดยเร็วต่อไป

อย่างไรก็ตาม ประเด็นปัญหาน้ำท่วมขังในบริเวณที่อยู่อาศัยของชาวเล ซึ่งเกิดปัญหาน้ำท่วมเกิดจากการถมที่ ตรงส่วนนี้ได้เรียนกับผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตแล้ว ซึ่งรับที่จะเป็นผู้ประสานเอกชนเจ้าของที่ดินมาพูดคุยเพื่อแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหา นอกเหนือไปจากแนวทางกระบวนการทางกฎหมายเพียงอย่างเดียว ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาค่อนข้างยาว น่าจะมีแนวทางอื่นที่จะใช้วิธีการบริหารจัดการในระบบราชการ น่าจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ ซึ่งทางผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตรับที่จะไปพูดคุยกับทางเอกชน

ส่วนกรณีของเขื่อน ในเบื้องต้นยังมีข้อห่วงกังวล ซึ่งจากข้อมูลที่ได้จากสำนักงานเจ้าท่าภูเก็ต ได้ให้ข้อมูลว่าจริงๆ ทางเจ้าท่าได้มีคำสั่งให้รื้อถอนเขื่อนตั้งแต่เดือน มิถุนายน 2559 แต่ติดขัดเรื่องงบประมาณ ซึ่งทาง สนช. จะไปช่วยเร่งรัดงบประมาณให้ แต่เรากลับมีข้อห่วงกังวลเพิ่มเติมว่า ถ้ารื้อถอนเขื่อนไปแล้วจะมีปัญหากระทบเรื่องของระบบนิเวศน์ชายฝั่งหรือไม่คือเรื่องของการกัดเซาะ เรื่องของการพังทลายของชายหาด เพราะดูจากสภาพแล้วเป็นเขื่อนที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อกันคลื่น เรื่องนี้ทางคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีรายงานการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการกัดเซาะและการพังทลายของชายหาดในแถบจังหวัดภาคใต้ตลอดเส้นทางของการเกิดปัญหานี้ เกิดกับทุกจังหวัดที่มีพื้นที่ติดกับชายทะเล เรื่องนี้เรามีข้อห่วงกังวล จะต้องไปศึกษาในรายละเอียดเพิ่มเติม

ทั้งนี้เรื่องการรื้อถอนในทางกฎหมายถ้าข้อเท็จจริงชี้ชัดออกมาว่า เขื่อนสร้างโดยไม่ถูกต้องหน่วยงานที่มีอำนาจก็สามารถรื้อถอนได้ทันที แต่เรามองมากกว่านั้น คือผลกระทบทางระบบนิเวศน์ชายฝั่ง ว่าทำอย่างไรจะให้การแก้ปัญหาไม่นำไปสู่การสร้างปัญหาใหม่เกิดขึ้น คงจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่มีความยั่งยืน ทั้งชุมชนและในเรื่องของระบบนิเวศน์ชายฝั่ง ซึ่งทางคณะ สนช.จะขอไปศึกษาในรายละเอียดและทำความคิดเห็นร่วมกันอีกครั้ง

ความยาวเขื่อนชายหาดที่จะต้องรื้อ เรากำลังรอข้อมูลเพิ่มเติมจากกรมเจ้าท่าว่าที่เขาออกคำสั่งให้รื้อถอนวันนั้นมีความยาวมากน้อยแค่ไหน และวันนี้เราก็ดูเปรียบเทียบกันทั้งชายหาดส่วนที่ไม่มีเขื่อนอยู่เดิม สภาพชายหาดเป็นอย่างไร มีการพังทลายหรือมีการกัดเซาะเกิดขึ้นหรือไม่ เปรียบเทียบกับชายหาดส่วนที่มีเขื่อนอยู่ ซึ่งแม้ดูด้วยตาเปล่ามองเห็นแล้วว่ามีการพังทลายเกิดขึ้นแต่ก็ยังมีข้อมูลอีกมุมหนึ่งที่แย้งว่าการพังทลายนั้นเกิดจากการพังทลายจากส่วนที่ไปถมเอาทรายมาถมเพิ่มเติม ไม่ใช่เป็นการพังทลายของสภาพหาดเดิม อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องศึกษาในเชิงเปรียบเทียบด้วย