มอ.เดินหน้าตั้งศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามันที่ภูเก็ต เตรียมผุดโรงพยาบาล – ศูนย์สุขภาพนานาชาติ

โพสเมื่อ : Sunday, June 7th, 2020 : 10.55 am

มอ.เดินหน้า “ศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน” วิทยาเขตภูเก็ต ผุด 3 โครงการรองรับ วิทยาลัยสุขภาพนานาชาติ ผลิตบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ขนาด 100-150 เตียง ศูนย์สุขภาพนานาชาติ รองรับทั้งคนไทยและต่างชาติ


เมื่อเวลา 11.30 น.วันที่ 6 มิ.ย. ที่ผ่านมา รศ.ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดีวิทยาเขตภูเก็ต รศ.นพ.พุฒิศักดิ์ พุทธวิบูลย์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และนายจำรัส ปิติกุลสถิต ประธานกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ร่วมแถลงข่าว “ม.อ.เดินหน้ายุทธศาสตร์ “ศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน” โดยมี ณ ห้องประชุมเก็ตโฮ่ อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต

รศ.ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดีวิทยาเขตภูเก็ต เปิดเผยว่า จากข้อมูลการส่งต่อผู้ป่วยหนักเพื่อเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ของ 3 จังหวัดอันดามันคือ ภูเก็ต พังงา และกระบี่ ในปี 2562 ที่ผ่านมา พบว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 5,820 คน คิดเป็นจำนวนครั้งในการส่งต่อ 10,106 ครั้ง ซึ่งตัวเลขดังกล่าวได้สะท้อนถึงการขาดโอกาสการดูแลสุขภาพอย่างทั่วถึงของคนในพื้นที่จังหวัดอันดามัน และหากรวมตัวเลขผู้ป่วยในจังหวัดอื่นๆ ในพื้นที่อันดามัน รวมถึงผู้ป่วยที่อาจจะเลือกเดินทางไปรักษาที่กรุงเทพมหานครเข้าไปด้วย เชื่อว่าตัวเลขดังกล่าวจะมีสูงกว่านี้มาก เพื่อเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าวรวมทั้งเป็นการลดค่าใช้ในการรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้

ทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จึงได้มีแนวคิดในการจัดตั้งศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามันขึ้น โดยมีเป้าหมายในการดูแลสุขภาพของคนในพื้นที่จังหวัดอันดามัน รวมทั้งผลิตบุคลากรด้านสาธารณสุข เพื่อรองรับและส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นการสนองยุทธศาสตร์ชาติของรัฐบาล


โครงการศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน ได้ผ่านความเห็นชอบจากมติสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2562 และ ได้มีการบรรจุโครงการในแผนยุทธศาสตร์ฯ 2561-2565 ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และถือเป็นหนึ่งในจุดเน้นตามหลักการ PSU System ซึ่งมีวิทยาเขตภูเก็ต (ม.อ.ภูเก็ต) เป็นผู้ดำเนินการ โดยโครงสร้างการดำเนินงานศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน ประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลัก ประกอบด้วย

1.วิทยาลัยสุขภาพนานาชาติ (International Health and Science College) มีการผลิตบุคลากรทางด้านสาธารณสุขให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาสาธารณสุขของพื้นที่อันดามันและพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศ โดยมีเป้าหมายในการผลิตทั้งแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร เทคนิคการแพทย์และแพทย์แผนไทย  2.โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต (Songklanagarind Hospital Phuket Campus) เพื่อให้ประชาชนในกลุ่มจังหวัดอันดามันได้รับบริการรักษาโรคซับซ้อน โดยที่สถานพยาบาลในพื้นที่ไม่สามารถรองรับได้ สร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยวในการเข้ามาท่องเที่ยวในกลุ่มจังหวัดอันดามันและประเทศไทย โดยเตรียมความพร้อมทั้งองค์ความรู้และบุคลากรเพื่อรองรับปัญหาทางด้านสุขภาพใหม่ๆ ที่อาจจเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งการรองรับสังคมผู้สูงวัย

และ 3.ศูนย์สุขภาพนานาชาติ (International Wellness Center) เพื่อให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในจังหวัดภูเก็ต ให้ได้รับบริการที่ดีมีคุณภาพ สะดวกรวดเร็ว และเตรียมความพร้อมรองรับการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นในอนาคต เพื่อสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว และมีการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง โดยสร้างเอกลักษณ์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ดูแลแบบครบวงจร ทั้งรักษาพยาบาล ฟื้นฟูสภาพและส่งเสริมสุขภาพ

ทั้งนี้ ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน โดยมี รศ.นพ.พุฒิศักดิ์ พุทธวิบูลย์ เป็นประธานคณะทำงานขับเคลื่อนการจัดตั้งโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต รศ.ดร.พันธ์ ทองชุมนุม เป็นประธานคณะทำงานขับเคลื่อน Wellness Center

ขณะที่ รศ.นพ.พุฒิศักดิ์ พุทธวิบูลย์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนการจัดตั้งโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต กล่าวว่า คณะทำงานขับเคลื่อนการจัดตั้งโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต มีแนวคิดที่จะเริ่มดำเนินการแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 จัดตั้งคลินิกรักษ์สุขภาพเพื่อให้บริการบุคลากรและบุคคลภายนอก ระยะที่ 2 จัดตั้งเป็นโรงพยาบาลขนาด 100-150 เตียง เพื่อให้บริการแก่ประชาชนทั่วไป และ ระยะที่ 3 ขยายการให้บริการขนาด 300 เตียง ซึ่งมีแนวคิดที่จะดำเนินการก่อสร้างบนพื้นที่ 17 ไร่ ภายในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต โดยอาคารที่จะดำเนินการมีทั้งการปรับปรุงอาคารที่มีอยู่เดิม และการสร้างอาคารใหม่ต่อไป

นอกจากนี้ ในด้านความพร้อมการเปิดวิทยาลัยสุขภาพนานาชาติที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต นั้นจะต้องมีการเขียนหลักสูตรทางการแพทย์เพื่อส่งให้แพทยสภารับรอง ซึ่งคิดว่า 2 ปี น่าจะดำเนินการได้ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการตั้งกรรมการเขียนหลักสูตร และคณะกรรมการปรับปรุงเพื่อพัฒนาเป็นโรงพยาบาลซึ่งจะต้องทำควบคู่กันไป ซึ่งกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยได้มีการผลักดันมาเป็นเวลาประมาณ 2 ปีแล้ว

แต่อย่างไรก็ตาม การจะเป็นโรงพยาบาลและวิทยาลัยสุขภาพนานาชาติอาจจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี แต่ในส่วนของคลินิกคิดว่าน่าจะเปิดได้ประมาณเดือนตุลาคม 2563

ขณะที่ นายจำรัส ปิติกุลสถิตย์ ประธานกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ต ถือเป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางทางการท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง มีการบริการสปาที่ได้รับการยอมรับในระดับโลกจำนวนมาก มีคลินิกเอกชน มีโรงพยาบาลของรัฐและโรงพยาบาลเอกชนอีกที่ได้รับการมาตรฐาน JCIA (Joint Commission International Accreditation USA) ภูเก็ตมีจำนวนสถานประกอบการเพื่อสุขภาพทั้งหมดที่เข้าระบบและผ่านการรับรองมาตรฐานมากเป็นอันดับ 2 รองจากกรุงเทพมหานคร และมีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพนานาชาติ แต่ขาดการเชื่อมโยงบริการต่างๆ ระหว่างผู้ประกอบการที่ให้บริการทางการแพทย์ และการบริการเชิงส่งเสริมสุขภาพ เพื่อนำเสนอการบริการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมให้สามารถตอบสนองความต้องการใช้บริการของนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอย่างเป็นรูปธรรม

การกำหนดทิศทางความเชื่อมโยงและบูรณาการระหว่างการบริการเชิงการแพทย์และการส่งเสริมสุขภาพในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะเป็นปัจจัยที่สำคัญในการพัฒนาอัตลักษณ์ของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของจังหวัดภูเก็ตเพื่อก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางการบริการทางการแพทย์ (Medical Hub) ในอนาคต

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้ขับเคลื่อนการดำเนินการจัดทำโครงการศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามันเพื่อตอบโจทย์ในการพัฒนาจังหวัดภูเก็ตได้อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น และจัดให้มีการประชุมหารือรับฟังข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนในพื้นที่
และผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านในหลากหลายวาระและโอกาส ซึ่งกรรมการส่งเสริมกิจการ ม.อ.ภูเก็ตได้มีมติเห็นชอบในการดำเนินการ
รศ.ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดีวิทยาเขตภูเก็ต กล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนาเป็นวิทยาลัยสุขภาพนานาชาตินั้นจะมีการผลิตบุคลากรด้านสาธารณสุข ทั้งหลักสูตรระยะสั้น และระยะยาวเพื่อรองรับการแก้ปัญหาสาธารณสุขและการขาดแคลนบุคลากรในพื้นที่จังหวัดอันดามัน โดยในปีการศึกษา 2563 ได้มีการรับนักศึกษาด้านพยาบาลศาสตร์เป็นรุ่นแรก จำนวน 30 คน ส่วนด้านอื่นๆ เช่นแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัช เทคนิคการแพทย์ และแพทย์แผนไทย อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อม