ภูเก็ตชงสารพัดปัญหารัฐมนตรีท่องเที่ยวและกีฬาแก้

โพสเมื่อ : Sunday, August 4th, 2019 : 6.05 pm

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ป้ายแดงลงภูเก็ตติดตามสถานการณ์ท่องเที่ยว  ผู้ประกอบการเสนอสารพัดปัญหาหาแนวทางแก้ทำท่องเที่ยวยั่งยืน

เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (4 ส.ค.) ที่โรงแรมรอยัล ภูเก็ต ซิตี้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมด้วย นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ส.ส.อุทัยธานี และคณะ ประชุมหารือและรับฟังข้อคิดเห็นในการพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต โดยมีนายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายธัญวัฒน์ ชาญพินิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พล.ต.ต.วิศาล พันธ์มณี ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต นางศิระวี วาเลาะห์ ผอ.สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดภูเก็ต นางกนนกกิตติกา กฤตย์วุฒิกร ผอ.ททท.สำนักงานภูเก็ต นางธันยรัศม์ อัจฉริยะฉาย อดีตประธานกรรมาธิการท่องเที่ยว วุฒิสภา นายภูริศ มาศวงศา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการพัฒนาการท่องเที่ยวเขตอันดามัน ดร.ชยานนท์ ภู่เจริญ อาจารย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต หอการค้าภูเก็ต สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวภูเก็ต สมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ สภาอุตสาหกรรมภูเก็ต สมาคมอสังหาทรัพย์ภูเก็ต บริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง ตำรวจท่องเที่ยว หน่วยงานภาครัฐและเอกชน เข้าร่วม

ทั้งเพื่อพบปะผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต และพังงา รวมถึงหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เพื่อร่วมกันพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต เพื่อนำเสนอไปยังกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป

ดร.ชยานนท์ ภู่เจริญ อาจารย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ได้เสนอข้อมูลวิจัยเกี่ยวกับนักท่องเที่ยวในภูเก็ต โดยพบว่านักท่องเที่ยวที่มาภูเก็ตร้อยละ 33 มาแล้วกลับมาอีก จากที่คนภูเก็ตมีอัธยาศรัยไมตรีที่ดีกับนักท่องเที่ยวที่มาเยือน ต้นทุนทางวัฒนธรรม จากคุณภาพและความหลากหลายของที่พัก แต่ก็มีสิ่งที่นักท่องเที่ยวต้องการให้แก้ไข ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของความปลอดภัยด้านคมนาคม ความเชื่อมโยงของระบบคมนาคม ความสะอาดของชายหาด สุขอนามัยด้านอาหารและเครื่องดื่ม รวมไปถึงราคาค่าโดยสารรถรับจ้างทั่วไป เป็นต้น

และพบว่านักท่องเที่ยวร้อยละ 90 ที่มาภูเก็ตเพราะหาดทราย ชายทะเล ดังนั้นเพื่อให้นักท่องเที่ยวที่มาแล้วมาอีกครั้งที่ 3 เป็นต้นไป ไม่รู้สึกเบื่อกับการมาภูเก็ต ภูเก็ตจำเป็นที่จะต้องมีสิ่งจูงใจด้านอื่นๆรวมอยู่ด้วย และในส่วนของค่าเงินบาทที่แข็งนั้นส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของภูเก็ต ที่ทำให้ต้นทุนการท่องเที่ยวในภูเก็ตของนักท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงในปัจจุบันแม้ว่า ค่าใช้จ่ายต่อวันต่อคนต่อหัวของนักท่องเที่ยวจะสูงขึ้นจาก 10 ปีที่แล้วมาก โดยเมื่อ 10 ปีที่แล้วอยูที่หัวละ 4,4509 บาท ในปัจจุบันเพิ่มเป็น 7,800 บาท แต่ปัจจัยมีผู้เล่นรายใหญ่และนวัตกรรมใหม่เกิดขึ้นมาก มีการจองโรงแรม ทัวร์ ผ่านทางแอพพิเคชั่นและออนไลน์มากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากเมื่อก่อนที่จองโดยตรงตามเคาน์เตอร์ทัวร์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนในภูเก็ตได้มีการนำเสนอข้อมูลและปัญหาต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวของภูเก็ต ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นนานแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่สามารถรองรับการเติบโตทางการท่องเที่ยวของภูเก็ตได้ทัน ปัญหาการขาดแคลน้ำ ปัญหามัคคุเทศก์ ปัญหานักท่องเที่ยวที่ลดลง ปัญหาสล็อตของสนามบินภูเก็ต ปัญหาความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว รวมไปถึงผลักดันเกิดสนามบินที่พังงาและปัญหาการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวขึ้นเกาะสิมิลัน เป็นต้น

โดยนายรังสิมัน กิ่งแก้ว สภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ปัจจุบันการท่องเที่ยวของภูเก็ตจะต้องได้รับการดูแลและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายๆเรื่อง ทั้งในเรื่องของความปลอดภัย โครงสร้างพื้นฐาน ความสะดวกสบายของนักท่องเที่ยว ปัญหาสล็อตของสนามบินภูเก็ตที่เต็มไม่สามารถเพิ่มเที่ยวบินจากบางเมืองที่ต้องการบินมาภูเก็ตได้ เช่น ตลาดอินเดียยังต้องการมาภูเก็ตอีกมาก แต่ไม่สามารถที่จะเพิ่มเที่ยวบินจากอีก 5-6 เมืองได้จากสล็อตสนามบินภูเก็ตเต็ม รวมไปถึงปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย รวมไปถึงการทำตลาดทั้งในเรื่องของสปอร์ตวีเว้นท์ที่ภูเก็ตมีศักยภาพสูงมาก ตลาด MICE ก็มีศักยภาพ แต่ยังขาดศูนย์ประชุมขนาดใหญ่ จึงอยากผลักดันสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นในภูเก็ต

“น่าที่จะนำรูปแบบแซนด์บ็อกเข้ามาแก้ปัญหาในหลายเรื่องของภูเก็ต โดยเริ่มต้นจากการเปิด-ปิดของสถานบริการที่หาดป่าตอง ที่เป็นเมืองท่องเที่ยว สถานบริการน่าที่จะเปิด-ปิด แตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ”

ด้านนายก้องศักดิ์ คู่พงศกร นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ กล่าวว่า ภาพรวมนักท่องเที่ยวที่เข้าภูเก็ตตัวเลขที่ผ่านสนามบินภูเก็ตไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด แต่ที่ลดลงคืออัตราการเข้าพักโรงแรม เนื่องจากมีโรงแรมเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้นักท่องเที่ยวต้องถูกเฉลี่ยไปตามโรงแรมต่างๆ ทำให้อัตราเข้าพักต่ำลงเรื่อยๆ เฉลี่ยวันพักลดลงจาก 12 คืน เหลือเพียง 4 คืน ทำให้ผลประกอบการย่ำแย่ตามไปด้วย แต่ก็ยังมีแรงจูงใจให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้น

ทำให้ภูเก็ตต้องประสบปัญหาในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน ถนนหนทาง ที่มีไม่เพียงพอทำให้การจราจรติดขัด ถนนหลายสายถูกนำเสนอของบประมาณแต่ก็ยังไม่ได้รับการจัดสรร ติดปัญหาเรื่อง EIA ปัญหาเรื่องงบประมาณ และอีกหลายๆเรื่อง รวมไปถึงการขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้ง ที่ขณะนี้ทางจังหวัดภูเก็ตและทางชลประทานมีแผนในการดำเนินการแต่ติดขัดในเรื่องงบประมาณ

ขณะนี้ น.ส.นันทิดา อติเศรษฐ์ นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดพังงา กล่าวว่า ในส่วนของสมาคมท่องเที่ยวพังงาอยากจะฝากให้ผลักดัน 2 เรื่อง คือ สนามบินที่โคกกลอยที่ขณะนี้อยู่ในขั้นการพิจารณาเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อรองรับการเติบโตทางการท่องเที่ยวของพังงาและอันดามัน ที่ขณะนี้สนามบินภูเก็ตไม่สามารถที่จะพัฒนาเพิ่มได้อีก และปัญหาการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวขึ้นเกาะสิมิลัน ที่กรมอุทยานฯกำหนดให้ขึ้นเกาะสิมิลันได้วันละ 3,225 คน ทำให้ผู้ประกอบการเดือดร้อนมาก และได้มีการฟ้องศาลปกครอง ขณะนี้เรื่องอยู่ในชั้นการพิจารณาของศาลปกครอง

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า การส่งเสริมการท่องเที่ยวนั้น เป็นหนึ่งในนโยบายที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงต่อรัฐสภา ที่รัฐบาลจะต้องขับเคลื่อนต่อไป และแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับการท่องเที่ยว การมารับฟังปัญหาของภูเก็ตและพังงาในวันนี้นั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ปัญหาที่สามารถแก้ไขได้เลยทางกระทรวงก็จะเข้าไปดำเนินการ ส่วนปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงอื่นๆ ทางกระทรวงท่องเที่ยวฯจะได้ประสานกับทางกระทรวงนั้นๆ ต่อไป อย่ากรณีของการเรียกร้องให้สถานบริการที่ป่าตองเปิดได้เกินเวลาที่กฎหมายกำหนดให้เหมาะสมกับเมืองท่องเที่ยว เรื่องนี้ตนได้หารือกระทรวงที่เกี่ยวข้องแล้ว สำหรับพิจารณาอยู่ว่ามีพื้นที่ใดบ้างในประเทศไทยที่จะพิจารณาให้ปิดตี 2 หรือปิดตี 4 ซึ่งเมืองท่องเที่ยวสำคัญๆ ทุกเมืองจะได้รับการพิจารณาเท่าเทียมกันอย่างแน่นอน และเรื่องนี้จะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้อย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม การรับฟังปัญหาทางการท่องเที่ยวของภูเก็ตในวันนี้ เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น ในวันที่ 25 ส.ค.นี้ ตนและคณะจะเดินทางมารับฟังปัญหาการท่องเที่ยวของภูเก็ตอีกครั้งหนึ่ง จึงอยากให้ภาครัฐและเอกชนในภูเก็ตรวบรวมปัญหาที่จะนำเสนอพร้อมกับส่งรายละเอียดเบื้องต้นไปยังกระทรวงท่องเที่ยว เพื่อที่จะได้ประสานไปยังรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องในการเชิญมาร่วมประชุมรับทราบปัญหาเพื่อหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน เพื่อให้การพัฒนาการท่องเที่ยวเป็นไปในทิศทางที่เติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไป