ผนึกกำลังแจ้งความเรือประมงนำฉลามวาฬขึ้นเรือ ศร.ชล.ลาดตระเวนหาตัวหลังปล่อยกลับลงทะเลยังไม่ชี้ชัด มีชีวิต หรือ ตายแล้ว

โพสเมื่อ : Saturday, May 19th, 2018 : 5.40 pm

ศูนย์ PIPO ภูเก็ต แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษเหตุสงสัยฝ่าฝืน พ.ร.ก.การประมง พร้อมสั่งกักเรือจนกว่าการสอบสวนจะสิ้นสุด ด้านศรชล สั่งเรือลาดตระเวนตรวจสอบหาฉลามวาฬตัวที่ถูกจับขึ้นเรือยันไม่สามารถระบุได้ว่ายังมีชีวิตหรือไม่ ขณะที่ไต๋เรือ อ้างติดอวนขึ้นเรือโดยไม่รู้ว่าเป็นฉลามวาฬ แต่รีบปล่อยกลับทะเลทันที ขณะที่อธิบดีสั่งแจ้งความเพิ่มไต๋เรือ ด้านผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตสั่งหน่วยงานเกี่ยวข้องตรวจสอบข้อเท็จจริงเชิงลึก

เมื่อเวลา 9.30 น.วันนี้ ( 19 พ.ค.) ที่ศูนย์ PIPOพลเรือเอกพิเชษ ตานะเสรษฐ เสนาธิการทหารเรือ พร้อมคณะลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีมีการนำเสนอคลิปวีดีโอในสื่อออนไลน์ และโซเชียลมีเดีย มีการนำฉลามวาฬขึ้นบนเรือประมง โดยเหตุเกิดในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อวานที่ผ่านมา ( 18 พ.ค.) โดยมี น.อ.ภุชงค์ รอดนิกร หัวหน้าฝ่ายนโยบายและแผน ศรชล.เขต 3 เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ PIPO เจ้าหน้าที่จากสำนักงานประมงจังหวัดภูเก็ต เจ้าหน้าที่จากสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 สาขาภูเก็ต และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมชี้แจ้งข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

โดยเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ PIPO ภูเก็ต แจ้งว่า หลังมีการแชร์ภาพและคลิปการนำฉลามวาฬขึ้นมาบนเรือทางศูนย์ได้ตรวจสอบเรือดังกล่าวแล้วพบว่าเป็นเรือประมงอวนลาก ชื่อเรือ แสงสมุทร 3  มีนายสมสมัย มีจอม เป็นผู้ควบคุมเรือ มีลูกเรืออยู่บนเรือจำนวน 13 คน จากการตรวจสอบโดยชุด สหวิชาชีพของศูนย์พบว่าเรือแจ้งออกจากท่าเมื่อวันที่ 11 พ.ค.และ ได้แจ้งเข้าไว้ในวันที่ 22 พ.ค.นี้ แต่เรือได้ขอแจ้งเข้าในเวลา 22 .00 น. วันที่ 18 พ.ค. เพื่อขึ้นสัตว์น้ำซึ่งผลการตรวจสอบของสหวิชาชีพไม่พบการกระทำผิด

ส่วนกรณีสัตว์น้ำที่ปรากฎในคลิปนั้นเป็นฉลามวาฬที่ติดอวนขึ้นมาจริง แต่ทางไต๋เรือแจ้งว่าได้ปล่อยลงทะเลไปแล้ว ซึ่งในเรื่องนี้ทางชุดสหวิชาชีพพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นการกระทำอันเป็นเหตุน่าสงสัยว่าเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 มาตรา 66 ประกอบการเกษตร เรื่องการกำหนดชนิดสัตว์น้ำที่เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์น้ำหายาก หรือใกล้สูญพันธ์ที่ห้ามจับ หรือนำขึ้นเรือประมง พ.ศ.2559 ข้อ 2 อนุ 4 ปลาฉลามวาฬ

โดยขณะนี้ จ่าเอกสุชาติ เพชรสวน หัวหน้าชุดตรวจสหวิชาชีพ ได้ไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ ลงบันทึกประจำวันไว้ที่ สภ.เมืองภูเก็ต เมื่อวันที่ 19 พ.ค.61 เวลา 02.00 น. แล้ว ส่วนเรือแสงสมุทร 3 และเรือแสงสมุทร 2 รวมทั้งสัตว์น้ำที่ได้จากการทำประมง ได้สั่งกักเรือไว้แล้วเนื่องจากอยู่ระหว่างการสอบสวนและดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยขณะนี้ได้มีการโอนคดีไปยังสถานีตำรวจภูธรฉลองแล้วเนื่องจากเหตุเกิดในพื้นที่ความรับผิดชอบของ สภ.ฉลอง

 ส่วนกรณีมีการแชร์ว่าฉลามวาฬตัวดังกล่าวมีลูกหลุดออกมาจากช่องคลอด เจ้าหน้าที่จากศูนย์ PIPO ชี้แจงว่า จากการสอบถามไต๋เรือ ระบุว่าก้อนสีขาวๆที่เห็นอยู่บริเวณส่วนท้องของฉลามนั้นเป็นทุ่นผูกอวนไม่ใช่ลูกฉลามแต่อย่างใด ส่วนกรณีที่บอกว่าพยายามแล่นเรือหนี จากการสอบถามก็ทราบว่าไม่มีการแล่นเรือหนีแต่อย่างใด แต่จำเป็นต้องแล่นเรือเพื่อไม่ให้เรือทรงตัวอยู่ได้ในขณะที่เอียงเรือเพื่อปล่อยฉลามกลับลงทะเล แต่ถ้าปล่อยเลยโดยไม่มีการดึงเชือกไว้อาจจะทำให้ฉลามติดอยู่ที่กราบเรือซึ่งจะทำให้เรือเอียงได้

ขณะที่ น.อ.ภุชงค์ รอดนิกร หัวหน้าฝ่ายนโยบายและแผน ศรชล.เขต 3 กล่าวว่า สำหรับในส่วนของฉลามวาฬตัวดังกล่าว จากการสอบถามไต๋เรือทราบว่ามีการปล่อยลงทะเลและว่ายน้ำหายไปหลังจากที่มีการปล่อย แต่ตอนนี้ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าจะยังมีชีวิตอยู่ หรือเสียชีวิตแล้ว เพราะจนถึงขณะนี้ยังไม่ปรากฏตัวปลาให้เห็น ซึ่งได้มีการขอความร่วมมือในส่วนของศร.ชล,เขต 3 ทุกหน่วยงานให้ช่วยกันตรวจสอบ รวมทั้งประสานไปยังเรือท่องเที่ยว เรือประมง รวมทั้งมีการจัดเรือลาดตระเวน เพื่อตรวจสอบหาฉลามวาฬตัวดังกล่าวแล้ว  เพราะถ้าฉลามวาฬเสียชีวิตจะต้องมีซากลอยขึ้นมาซึ่งอาจจะต้องใช้เวลา 6 – 7 วัน

นอ.ภุชงค์ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมายังไม่เคยมีคดีแบบนี้เกิดขึ้น แต่ก็ได้มีการเฝ้าระวังและติดตามมาตลอด เพราะเกรงว่าจะมีการจับและการขายเกิดขึ้นจึงให้เรือที่ลาดตระเวนตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา สำหรับเรือลำที่เกิดเหตุจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าทำการประมงอยู่ในเขตที่กำหนด ส่วนจะมีเจตนาในการจับฉลามหรือไม่ต้องให้ทางพนักงานสอบสวนดำเนินการ ซึ่งทางไต๋เรือเองอ้างว่าฉลามติดอวนมาและได้ปล่อยกลับลงทะเลแล้ว ส่วนกรณีที่มีการผู้เชือกที่หางนั้นจากการสอบถามก็แจ้วว่าผูกเพื่อใช้เครนยกปลาปล่อยลงทะเล เพราะปลาตัวใหญ่ไม่สามารถใช้แรงคนยกได้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าเกิดขึ้นในเวลาประมาณ 14.00น. ของวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยจุดที่ลากอวนขึ้นอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของเกาะราชา อ.เมือง จ.ภูเก็ต

ขณะที่ตัวแทนจากสำนักงานประมงจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูล เรือดังกล่าวออกไปจับปลาตั้งแต่วันที่ 11 – 18 พ.ค. ปลาที่จับได้ส่วนใหญ่เป็นปลาเป็ด โดยจับปลาได้ประมาณ 20,000 กิโลกรัม และ จากการตรวจสอบไม่พบชิ้นส่วนของฉลามวาฬอยู่บนเรือแต่อย่างใด  เครื่องมือจับปลาก็ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด

อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นทางคณะได้เดินทางต่อไปยังท่าเทียบเรือ ซึ่งเป็นจุดที่กัดเรือลำดังกล่าวไว้ ซึ่งได้มีการสอบถามในส่วนของไต๋เรือถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยนาย สมสมัย มีจอม ไต๋เรือ กล่าวว่า ครั้งแรกไม่ทราบว่ามีฉลามติดมากับอวนที่ลูกเรือดึงขึ้นมา แต่รู้สึกว่าน้ำหนักมากตอนแรกคิดว่าเป็นท่อนไม้ก็ดึงอวนขึ้นมาบนเรือ แต่เมื่อเห็นเป็นปลาฉลามก็รู้สึกตกใจ จึงเร่งให้ลูกเรือเร่งปล่อยกลับลงทะเลโดยใช้เวลาประมาณ 10 นาที ส่วนสาเหตุที่ต้องใช้เชือกผูกหางก็เพื่อใช้เครนช่วยยก เพราะฉลามตัวใหญ่คนมีน้อยไม่สามารถเอาลงทะเลได้ ซึ่งเรือตนได้ดึงอวนขึ้นมาในช่วงเวลาประมาณ บ่ายสามโมงเกือบบ่าย 4 โมง จำเวลาไม่ได้แน่นอน แต่ก็เร่งปล่อยกลับโดยเร็วที่สุด และยืนยันว่าฉลามไม่ตายแต่อย่างใด

ด้าน พล.ร.อ.พิเชฐ ตานะเศรษฐ เสนาธิการทหารเรือ กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ว่า ด้วยได้รับข้อสั่งการจากพล.ร.อ.นริส ประทุมสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ซึ่งมีความเป็นห่วงต่อกรณีที่เกิดขึ้นดังกล่าว จึงสั่งการให้ ลงพื้นที่มาติดตามข้อเท็จจริง เบื้องต้นจากการพูดคุยกับไต๋เรือ ซึ่งเล่าว่า ปลาตัวดังกล่าวติดอวนขึ้นมา โดยมีขนาดความยาวประมาณ 2 เมตร  เมื่อเห็นเป็นฉลามวาฬจึงพยายามนำกลับลงสู่ทะโดยใช้ต้องใช้เครนยกเพราะมีน้ำหนัก โดยใช้เวลากว่า 10  นาที จึงสามารถปล่อยกลับทะเลได้ โดยปลาไม่ได้รับบาดเจ็บ ส่วนที่มีการระบุว่า เห็นมีลูกปลาหลุดจากตัวนั้นในส่วนของทางไต๋กและลูกเรือไม่เห็นแต่อย่างใด

ส่วนการดำเนินการตามกฎหมายนั้นหลังตรวจสอบเรือและสอบปากคำลูกเรือก็ได้มีการแจ้งความดำเนินคดี และอยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริงของพนักงานสอบสวนตามขั้นตอน ทั้งนี้ต้องดูทั้งเรื่องเจตนาและพฤติกรรมอย่างอื่นร่วม รวมถึงประวัติในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งจะต้องให้เกิดความเป็นธรรม

โดยขณะนี้พนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างสอบปากคำผู้เกี่ยวข้องและรวบรวมพยานหลักฐานประกอบการพิจารณา  หากพบกระทำความผิดจริง ก็จะดำเนินการตามข้อกฎหมายที่กำหนด ซึ่งจากที่ตรวจสอบเป็นโทษปรับขั้นต่ำที่ 3 แสนบาทไป ถึง 3 ล้านบาท หรือประมาณ 5 เท่าของมูลค่าสัตว์น้ำ ในส่วนของเรือประมงในจังหวัดภูเก็ตที่ผ่านมาทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการอบรมประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เกี่ยวกับสัตว์ทะเลต้องห้ามอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว และหลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นก็จะได้มีการดำเนินการเพิ่มเติม

 นอกจากนั้นเมื่อเวลา 14.00 น.วันนี้ ( 19 พ.ค.61) นายนเรศ ชูผึ้ง ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล สำนักบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 9 (สบทช.9) ได้รับข้อสั่งการจากอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และนายวัชรินทร์ ถิ่นถลาง ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 9 เข้าพบพนักงานสอบสวน สภ.ฉลอง

เพื่อแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษเพิ่มเติม กับนาย สมสมัย มีจอม อายุ 55 ปี ชาว จ.ยโสธร ไต๋ก๋งเรือ แสงสมุทร 3 และนายรัตนา พรหมงาน ผู้ควบคุมเรือ แสงสมุทร 2 ในข้อกล่าวหา ร่วมกันล่าหรือ พยายามล่าสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ประกอบพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 16 ห้ามมิให้ผู้ใดล่า หรือพยายามล่าสัตว์ป่าสงวน หรือสัตว์ป่าคุ้มครอง เว้นแต่เป็นการกระทำโดยทางราชการ โดยเป็นการแจ้งความเพิ่มเติมจากที่ชุดสหวิชาชีพ ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออก เรือประมง เขต 3 (ภูเก็ต) หรือ PIPO ได้แจ้งไว้ก่อนหน้านี้

 

ด้านนายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวกรณีที่มีเรือประมงประเภทอวนลากชื่อแสงสมุทร 3 นำปลาฉลามวาฬขนาดใหญ่ขึ้นบนเรือ โดยมีผู้พบเห็นขณะลอยลำอยู่บริเวณเกาะราชากับเกาะเฮอำเภอเมืองจังหวัดภูเก็ตเมื่อบ่ายวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า ขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ศูนย์ ควบคุมการแจ้งเข้า – ออก เรือประมง เขต 3 ภูเก็ต  (PiPo)ได้แจ้งข้อกล่าวหากับเจ้าของเรือดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ตามในส่วนของปลาฉลามวาฬตัวดังกล่าว ล่าสุด ประมงจังหวัดภูเก็ต ยืนยันว่า ปลาฉลามวาฬยังมีชีวิตอยู่เพราะยังไม่มีประชาชนหรือนักท่องเที่ยวหรือชาวประมงในละแวกใกล้เคียงพบเห็นซากฉลามที่ลอยขึ้นมาบนผิวน้ำ

ผวจ.ภูเก็ต กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ได้กำชับให้ทางประมงจังหวัดภูเก็ตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการเรือนักท่องเที่ยว และเรือประมง ระมัดระวังหากพบเห็นปลาฉลามวาฬขอให้อยู่ห่างๆอย่าเข้าไปสัมผัส เพราะมีประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่เป็นข้อบังคับทางกฎหมายกำหนดความผิดชัดเจน   การดำเนินคดีกับเจ้าของเรือดังกล่าว มีความผิดทางอาญา  โดยขอให้ตรวจสอบเชิงลึกเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง