ธ.ก.ส.ภูเก็ต แถลงผลงาน  61 ” พัฒนาระบบงาน สานต่อ SMAEs บริการดีจากใจ

โพสเมื่อ : Friday, December 21st, 2018 : 1.50 pm

ธ.ก.ส.ภูเก็ต แถลงผลการดำเนินงานปี 61 “ปีแห่งการฟื้นฟูสหกรณ์และเกษตรลูกค้า พัฒนาระบบงาน สานต่อ SMAEs บริการดีจากใจ” เดินหน้าพัฒนาและปรับปรุงการให้บริการ-มุ่งเน้นให้ลูกค้าเป็นศูนย์กลางการให้บริการ ในปี 62

ที่ห้องประชุมชั้น 2 โรงแรมเพิร์ลภูเก็ต จ.ภูเก็ต สำนักงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จัดแถลงข่าวผลการดำเนินงานปี 2561 โดยมีนายพรรษิษฐ์ ช่วยพิชัย ผู้อำนวยการสำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดภูเก็ต เป็นประธานแถลง ร่วมกับผู้จัดการสาขาในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต มีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง สื่อมวลชน และกลุ่มผู้ประกอบการ SMAEs ของธนาคาร เข้าร่วม

นายพรรษิษฐ์ กล่าวว่า ปี 2561 ธ.ก.ส.ถือเป็น “ปีแห่งการฟื้นฟูสหกรณ์และเกษตรลูกค้า พัฒนาระบบงาน สานต่อ SMAEs บริการดีจากใจ” ซึ่ง ธ.ก.ส.มุ่งหวังเป็นศูนย์กลางทางการเงินสำหรับภาคการเกษตรและทุกภาคส่วน เน้นสร้างกระบวนการเพิ่มมูลค่าการผลิตแบบบูรณาการโดยให้ชุมชนเป็นศูนย์กลางร่วมกับเครือข่าย ส่งเสริมการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการ 

โดยผลการดำเนินการปี 2561 ด้านการให้บริการด้านสินเชื่อ ปัจจุบัน สำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดภูเก็ต ให้บริการสินเชื่อแก่ลูกค้าประมาณ 3,007 ล้านบาท ประกอบด้วย สินเชื่อบุคคล สินเชื่อสหกรณ์ สินเชื่อองค์กร และสินเชื่อผู้ประกอบการวิสาหกิจภาคการเกษตร(SMAEs) ธ.ก.ส.เน้นย้ำว่าธนาคารยังมีความต้องการขยายสินเชื่อเพิ่มให้แก่ทุกภาคการผลิตและผู้ประกอบการที่สนใจ

การให้บริการด้านเงินฝาก สำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดภูเก็ต ให้บริการรับฝากเงินมีเงินฝากทุกประเภทรวม 10,455 ล้านบาทและหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าให้ความสนใจฝากและถือเป็นการออมเงินประเภทหนึ่ง คือสลากออมทรัพย์สิน โดยปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 35 ของเงินฝากทั้งหมด และขณะนี้เงินฝากออมทรัพย์ทวีสินและเงินฝากประเภทต่างๆ ยังคงพร้อมให้บริการแก่ทุกท่าน

ด้านผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อลูกค้า ธ.ก.ส.ยังมีผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อดูแลลูกค้าของธนาคาร เช่น ผลิตภัณฑ์ ธ.ก.ส.มอบรัก 1/1 ธ.ก.ส.เพิ่มรัก 2/10 ธ.ก.ส.ทวีรัก 99 ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่คุ้มค่า คุ้มครองลูกค้า เพิ่มสวัสดิการและความมั่นคงให้แก่ลูกค้าและครอบครัว

ส่วนด้านนวัตกรรมการให้บริการทางการเงิน นายพรรษิษฐ์ กล่าวว่า ปี 2561 เป็นปีที่ ธ.ก.ส.เพิ่มการให้บริการผ่านนวัตกรรมการเงิน หลายรูปแบบ ได้แก่ Application การทำธุรกรรมทางการเงินของ ธ.ก.ส. โดยใช้ชื่อว่า A-Mobile และการให้บริการการรับชำระเงินด้วย QR Code Payment

ขณะที่ด้านการพัฒนาลูกค้าและชุมชน นอกจากการให้บริการทางการเงินแล้ว ธ.ก.ส.มีวิสัยทัศน์มุ่งพัฒนาลูกค้าและชุมชนผ่านโครงการ ได้แก่ การพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เป็น Smart Farmers การพัฒนาชุมชนต้นแบบตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับสู่ชุมชนอุดมสุข การพัฒนาชุมชนสู่ชุมชนเชิงนิเวศ การสนับสนุนเกษตรแปลงใหญ่เพื่อปรับโครงสร้างการผลิต ที่ปรึกษาทางการเงินภาคครัวเรือน โครงการธนาคารต้นไม้ และการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืน

นอกจากนี้ ธ.ก.ส.ยังคงดำเนินภารกิจเพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นผ่านโครงการ ได้แก่ การให้ความรู้ทางการเงิน การพัฒนาความรู้และอาชีพ และสนับสนุนสินเชื่อแก่เกษตรกรผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนผู้มีสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการตลาดประชารัฐ

สำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดภูเก็ต ได้บูรณาการสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในจังหวัดภูเก็ต ได้แก่ ความร่วมมือกับทัพเรือภาคที่ 3 สนับสนุนงบประมาณอนุรักษณ์พันธุ์เต่าทะเล การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) กับมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการภาคการเกษตร บูรณาการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวการบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งส่วนราชการและภาคเอกชน การสำรวจและพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวบริเวณภูวิวบ้านบางเทา

นอกเหนือจากภารกิจที่กล่าวมาแล้วข้างต้น สำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดภูเก็ต ยังได้ดำเนินภารกิจเพื่อสังคมในหลายรูปแบบ เช่น การเตรียมการก่อสร้างฝายชะลอน้ำขนาดกลางที่บ้านป่าคลอก อ.ถลาง การจัดกิจกรรมโครงการ “ปั่น ปั่น ปั่น” ซึ่งได้มอบจักรยานให้แก่นักเรียนที่ขาดแคลน การจัดกิจกรรม ธ.ก.ส.อาสาพัฒนาเก็บขยะและสิ่งปฏิกูลริมชายหาด นายพรรษิษฐ์ กล่าวในที่สุด

ทั้งนี้ในงานแถลงข่าว สำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดภูเก็ต ยังได้นำสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.ภูเก็ต(สกต.ภูเก็ต) ลูกค้า SMAEs ของธนาคารได้แก่ ผลิตภัณฑ์กาหยีแปรรูปน้องโอ กลุ่มแม่บ้านแปรรูปส้มแขกบ้านบางหวาน ร่วมออกบูธแนะนำผลิตภัณฑ์ ซึ่งในปี 2562 ผู้อำนวยการสำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดภูเก็ต ได้ตั้งเป้าหมายที่จะเดินหน้าพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการให้บริการลูกค้าอย่างเต็มศักยภาพ โดยมุ่งเน้นให้ลูกค้าเป็นศูนย์กลางและเกิดความพึงพอใจสูงสุดต่อการให้บริการ ควบคู่ไปกับการพัฒนาชุมชนและสังคม พัฒนาชุมชนท่องเที่ยว โดยดึงศักยภาพของชุมชนมาพัฒนาให้เกิดมูลค่าเพิ่มให้เกิดประโยชน์สูงสุดร่วมกับภาคีเครือข่าย