ชาวภูเก็ตสร้างอนุสาวรีย์เชิดชูเกียรติ “พระยาวิชิตสงครามฯ ผู้ตั้งเมืองภูเก็ต”

โพสเมื่อ : Friday, November 8th, 2019 : 8.47 am

ชาวภูเก็ตสร้างอนุสาวรีย์พระยาวิชิตสงครามฯ ผู้ตั้งเมืองภูเก็ต เพื่อเชิดชูระลึกถึงคุณงามความดีและเผยแพร่เกียรติคุณ ดึงอาจารย์สันติ พิเชฐชัยกุล ประติมากร ที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติร่วมสร้าง

นายธัญญวัฒน์ชาญพินิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยนางสาวสมใจ สุวรรณศุภพนานายกเทศมนตรีนครภูเก็ต อาจารย์สันติ พิเชฐชัยกุล ประติมากรที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ  และ นายนาวี ถิ่นสาคูคณะกรรมการวัดวิชิตสังฆาราม (วัดควน)  ร่วมแถลงข่าว การสร้างอนุสาวรีย์พระยาวิชิตสงคราม (ทัต รัตนดิลก ณ ภูเก็ต) ผู้ตั้งเมืองภูเก็จ โดยมีพระครูปริยัตยานุยุต เจ้าอาวาสวัดวิชิตสังฆาราม นายวิญญ์ สิทธิเชนทร์ท้องถิ่นจังหวัดภูเก็ต นายกวี ตันสุคตานนท์ รองนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต นายถาวรจิรพัฒนโสภณ รองนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต นายธวัชชัย ทองมั่ง ปลัดเทศบาลนครภูเก็ต สมาชิกสภาเทศบาล หัวหน้าส่วนราชการ ภาคีเครือข่าย แขกผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชนจาก เข้าร่วม ณ ห้องประชุมชั้น 3 เทศบาลนครภูเก็ต

นายธัญญวัฒน์ชาญพินิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า พระยาวิชิตสงคราม รามฤทธิเดช โลหเกษตรารักษ์ พิทักษสยาม รัฐสีมามาตยานุชิต พิพิธภักดี พิริยพาหะ จางวาง (วิเศษ) (ทัต รัตนดิลก ณ ภูเก็ต) หรือพระยาภูเก็จโลหเกษตรารักษ์ (ทัต) เป็นบรรพบุรุษของตระกูลรัตนดิลก ณ ภูเก็ต และเป็นเจ้าเมืองภูเก็จ สามรัชกาล คือ ตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 3ต่อเนื่องถึงรัชกาลที่ 4 และ ต้นรัชกาลที่ 5 (ปีพ.ศ.2392-2412) เป็นบุตรของพระภูเก็จ (แก้ว) เจ้าเมืองภูเก็จในสมัยรัชกาลที่ 3 กับอำแดงแจ่ม ธิดาพระยาตะกั่วทุ่ง (ถิ่น) เป็นหลานปู่พระยาถลาง หรือ พระยาณรงค์เรืองฤทธิ์ประสิทธิสงคราม (เจิม)เจ้าเมืองถลาง (พ.ศ. 2354 – พ.ศ.2380)  เมื่อบิดาถึงแก่อนิจกรรมในปี พ.ศ.2392 ปลายสมัยรัชกาล 3 หลวงพิทักษ์ทวีป (ทัต) ได้รับการ เลื่อนยศขึ้นเป็นพระภูเก็จ (ทัต) เจ้าเมืองภูเก็จ แทนบิดา

พระยาวิชิตสงครามฯ เป็นเจ้าเมืองที่มีความสามารถสูง ได้ตั้งเมืองภูเก็จใหม่ขึ้นในบริเวณรอบอ่าวทุ่งคา (ตัวเมืองภูเก็ตปัจจุบัน) ซึ่งเป็นบริเวณที่อุดมไปด้วยแหล่งแร่ดีบุก  มีการประกอบกิจการเหมืองแร่ และ การค้าในเมืองภูเก็จที่เจริญเติบโตไปพร้อมกับการสร้างเมืองภูเก็จ  โดยท่านได้ชักชวนให้กรรมกรชาวจีน พ่อค้าชาวจีนทั้งที่มาจากเมืองจีนและจากกรุงเทพฯ มาทำเหมืองแร่ดีบุก ทำให้ตัวเมืองภูเก็จสมัยนั้นมีความเจริญก้าวหน้าทันสมัยเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว  มีการค้าขายกับต่างประเทศและมีเงินภาษีส่งเข้าส่วนกลางเป็นจำนวนมาก

จนเจ้าเมืองภูเก็จได้รับ ศักดินา 10,000 ไร่ โดยเฉพาะที่ดินบริเวณเชิงเขาโต๊ะแซะ ซึ่งปัจจุบันนี้ส่วนหนึ่งได้ใช้เป็นสถานที่สร้างศาลากลางจังหวัดภูเก็ต ศาลจังหวัดภูเก็ต  สถานที่ราชการต่างๆรวมทั้งเป็นที่ตั้งของวัดวิชิตสังฆาราม(วัดควน) พระยาวิชิตสงครามฯ (ทัต รัตนดิลก ณ ภูเก็ต) ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อ พ.ศ. 2421 ศิริรวมอายุ 54 ปี

ขณะที่นางสาวสมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีเทศบาลนครภูเก็ต กล่าวว่า เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดี และเชิดชูเกียรติคุณของ พระยาวิชิตสงครามฯ (ทัต รัตนดิลก ณ ภูเก็ต) ทางจังหวัดภูเก็ต จึงร่วมกับเทศบาลนครภูเก็ต คณะกรรมการวัดวิชิตสงคราม และประชาชนชาวจังหวัดภูเก็ต จึงได้จัดสร้างอนุสาวรีย์พระยาวิชิตสงครามฯ (ทัต รัตนดิลก ณ ภูเก็ต) ขึ้นเพื่อเชิดชูระลึกถึงคุณงามความดีและเผยแพร่เกียรติคุณของผู้ตั้งเมืองภูเก็ตเมื่อ 170ปีที่แล้ว

อนุสาวรีย์พระยาวิชิตสงครามฯ (ทัต รัตนดิลก ณ ภูเก็ต) จะเป็นสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดภูเก็ตที่กระตุ้นเตือนให้ลูกหลานชาวภูเก็ตและประชาชนทั่วไปได้ตระหนักถึงประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมาอีกทั้งจะเป็นสถานที่สำหรับศึกษาหาความรู้ทางประวัติศาสตร์ภูเก็ตที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง

โดยประติมากรผู้ปั้นรูปจำลองพระยาวิชิตสงครามฯ คือ อาจารย์สันติ พิเชฐชัยกุล ซึ่งเป็นประติมากรไทยที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ผลงานชิ้นเอกของอาจารย์สันติที่ผ่านสายตาคนไทย คือ งานประติมากรรมพระรูปเหมือนพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงแย้มพระสรวลซึ่งได้เริ่มต้นงานปั้นในสถานที่ที่พระองค์ท่าน ทรงเสด็จพระราชสมภพ ณ โรงพยาบาลเมาท์ออเบิร์น เคมบริดจ์, รัฐแมสซาชูเซตส์ประเทศสหรัฐอเมริกา

ด้านอาจารย์สันติ พิเชฐชัยกุล กล่าวว่า มีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะมาสร้างผลงานประติมากรรมเหมือนจริงพระยาวิชิตสงครามฯให้กับชาวภูเก็ต เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของผู้ก่อตั้งเมืองภูเก็ต สำหรับงานชิ้นนี้ได้เริ่มมาประมาณ 4 ปี แล้ว ซึ่งได้รับการติดต่อจากทางคณะกรรมการวัดวิชิตฯ ให้ปั้นรูปเหมือนของพระยาวิชิตสงคราม ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งเมืองภูเก็ตใหม่ และท่านเป็นบุคคลที่มรความสามารถสูงที่ทำให้เมืองภูเก็ตมีความเจริญเติบโตมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่เจ้าคุณปู่ของท่าน ที่ผ่านมาตนปั้นบุคคลสำคัญ บุคคลที่มีชื่อเสียมาหลายคนแล้วจากทั่วโลก จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่รับงานนี้เพราะท่านเป็นบุคคลที่ก่อตั้งเมืองภูเก็ตและเป็นบุคคลที่มีคุณงามความดีทำให้ภูเก็ตเจริญมาอย่างทุกวันนี้

สำหรับรูปแบบที่จะปั้นอนุสาวรีย์พระยาวิชิตสงครามฯ นั้นจะเป็นในลักษณะรูปปั้นที่มีความสง่างามซึ่งขณะนี้งานคืบหน้าไปแล้วประมาณ 80 %  รูปปั้นสูงประมาณ 2.55 กว้าง 1.99 เมตร ลึก 1.99 เมตร ซึ่งเดิมที่คุยกันไว้จะปั้นรูปเหมือนขนาดเท่าครึ่งของคนเท่านั้นเอง แต่ทำไปทำมาคิดว่าน่าจะเล็กไปจึงทำขนาดใหญ่ขึ้นมาเป็นขนาด 2 เท่าครึ่งของคนปกติ

ส่วนเรื่องค่าตอบแทนในราคาที่คุยกนไว้ถ้าโดยปกติทั่วไปเป็นราคาที่ทำไม่ได้ แต่ตนก็ตั้งใจที่จะร่วมสร้างอนุสาวรีย์พระยาวิชิตสงครามด้วย จึงตกลงที่จะทำในราคาครึ่งหนึ่งและอีกครึ่งร่วมบริจาคในการก่อสร้างอนุสาวรีย์ฯ เพื่อร่วมเชิดชูเกียรติให้กับท่าน ซึ่งตนก็รึกสึกภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างอนุสาวรีย์พระยาวิชิตสงครามในครั้งนี้

สำหรับอนุสาวรีย์พระยาวิชิตสงคราม จะประดิษฐานอยู่บริเวณมุมหน้าวัดวิชิตสังฆาราม (วัดควน) ระหว่างถนนนริศรกับถนนเทศาซึ่งเป็นวัดที่ท่านได้สร้างขึ้นมาพร้อมกับการตั้งเมืองภูเก็ต โดยสร้างขึ้นจากซิลิคอนบร็อนซ์ (สำริด) ขนาดรูปหล่อ สูง 2.55 เมตร กว้าง 1.99 เมตร ลึก 1.99 เมตร ขนาดฐานอนุสาวรีย์ สูง 1.80 เมตร กว้าง 2.30 เมตร ลึก 2.30 เมตร โรงหล่อ สมบุญไฟน์อาร์ท อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทราพื้นที่ลานบริเวณอนุสาวรีย์ 164 ตรม.

งบประมาณในการจัดสร้างอนุสาวรีย์ฯทั้งหมดประมาณ8.7 ล้านบาท  โดยแบ่งเป็นงานประติมากรรม 7.5 ล้านบาท และงานสร้างฐานลานบริเวณอนุสาวรีย์ประมาณ 1.2 ล้านบาท   โดยมีกำหนดการวางศิลาฤกษ์ฐานอนุสาวรีย์ฯ โดยมีท่านเจ้าคณะจังหวัดภูเก็ตเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในวันศุกร์ที่ 22 พ.ย.นี้ เวลา 09.09 น.

การประดิษฐานรูปหล่อสำริดพระยาวิชิตสงครามฯ โดยมีท่านเจ้าคณะจังหวัดภูเก็ตเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในวันศุกร์ที่ 28 ก.พ.2563 เวลา 09.09 น.