ชาวบ้านเดือดร้อนขาดน้ำหน้าที่ท้องถิ่นช่วย ไม่ประกาศพื้นที่ภัยแล้ง หวั่นกระทบท่องเที่ยว

โพสเมื่อ : Tuesday, April 23rd, 2019 : 3.13 pm

ภูเก็ตยังไม่ประกาศพื้นที่ภัยแล้ง หวั่นกระทบท่องเที่ยว ชาวบ้านเดือดร้อนไม่มีน้ำใช้ หน้าที่ท้องถิ่นช่วยเพราะเป็นหน้าที่  ยืนยันน้ำมีใช้ถึง สิ้น พ.ค.นี้ แต่ต้องประหยัด
เมื่อเวลา 08.30 น.วันนี้ ( 23 เม.ย.) นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย นายสมศักดิ์ ฉายสินสอน  ผู้อำนวยการโครงการชลประทานภูเก็ต นายไกรสร มะหะหมัด ผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาคสาขาภูเก็ต นายประพันธ์ ขันธ์พระแสง หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต นายวิญญ์  สิทธิเชนทร์ ท้องถิ่นจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันแถลงมาตรการบริหารจัดการน้ำของจังหวัดให้เพียงพอในช่วงหน้า ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมแกรนด์สุพิชชา อ.เมือง จ.ภูเก็ต
นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์ภัยแล้ง เนื่องจากฝนทิ้งช่วงได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนในหลายพื้นที่ เนื่องจากมีน้ำใช้ไม่เพียงพอ แต่ปรากฏว่ามีการปล่อยข่าวว่าท้องถิ่นไม่สามารถช่วยเหลือประชาชนได้เนื่องจากไม่มีการประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้ง ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในวงกว้าง ซึ่งจริงๆแล้วองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย และสามารถช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน โดยไม่จำเป็นต้องมีการประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ เพราะเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรงของท้องถิ่นอยู่แล้ว
การประกาศพื้นที่ภัยพิบัติจะทำให้เกิดผลกระทบต่อการท่องเที่ยวได้ การประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนเท่านั้น เพื่อให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถใช้เงินทดรองราชการนำมาใช้ แต่จริงๆแล้วในส่วนของแต่ละท้องถิ่นมีเงินใช้สำหรับการช่วยเหลือประชาชนอยู่แล้ว และปัญหาน้ำไม่เพียงพอก็เป็นหน้าที่ของท้องถิ่นที่จะจัดหาน้ำไปแจกจ่ายให้กับประชาชนที่เดือดร้อน ถ้าเกินอำนาจของท้องถิ่นก็แจ้งมาที่อำเภอ จังหวัดตามขึ้นตอน
ซึ่งขณะนี้ได้กำชับหน่วยงานทุกภาคส่วนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแลประชาชนจัดหาน้ำอุปโภคบริโภคแจกจ่าย ให้ทั่วถึงและครอบคลุม ในส่วนของจังหวัดภูเก็ตได้มีการประชุมเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องโดยจังหวัดได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการสำรวจแหล่งน้ำเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำให้แก่ประชาชน โดยจังหวัดภูเก็ต ได้ออกหนังสือด่วนที่สุด ถึงนายอำเภอทุกอำเภอ,ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการจัดหาน้ำอุปโภคบริโภคมาดำเนินการแจกจ่ายให้กับประชาชนในเขตพื้นที่ของตนเองอย่าง ทั่วถึงและต่อเนื่อง อย่าให้มีกรณีการร้องทุกข์ในประเด็นดังกล่าวโดยเด็ดขาด
หากมีปัญหาในทางปฏิบัติใดๆให้รายงานในอำเภอท้องที่และสำเนาแจ้งสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต,สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดภูเก็ต ทราบด้วยทุกครั้ง ทั้งนี้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งดำเนินการตามแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแผนเผชิญเหตุภัยแล้งของหน่วยงานตนเอง และประกาศวิธีการขั้นตอนวันเวลาการแจกจ่ายน้ำให้ประชาชนรับรู้รับทราบโดยทั่วถึงกัน พร้อมทั้งจัดให้มีศูนย์รับแจ้งเหตุปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง และให้รายงานผลการปฏิบัตินี้ให้จังหวัดทราบในเวลา 16:00 น.ทุกวันตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน 2562 เป็นต้นไปจนกว่าจะมีการแจ้งยกเลิกการปฏิบัติ
ด้านนายสมศักดิ์ ฉายสินสอน  ผู้อำนวยการโครงการชลประทานภูเก็ต กล่าวว่า สถานการณ์น้ำจังหวัดภูเก็ต ณ วันที่ 22 เมษายน 2562 มีรายละเอียดดังนี้ สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำของกรมชลประทาน ทั้ง 3 แห่ง มีดังนี้ 1.1 อ่างเก็บน้ำบางวาด มีปริมาณน้ำ 1.09 ล้าน ลบ.ม. (10.07% ของความจุ) จัดสรรน้ำให้การประปาส่วนภูมิภาคและการประปาเทศบาลนครภูเก็ตวันละ 24,000 ลบ.ม.มีน้ำใช้ได้ประมาณ 34 วัน
1.2.อ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ มีปริมาณน้ำ 0.98 ล้าน ลบ.ม.(13.60% ของความจุ) จัดสรรน้ำให้การประปาส่วนภูมิภาค วันละ 12,000 ลบ.ม.มีน้ำใช้ได้ประมาณ 67 วัน 1.3.อ่างเก็บน้ำคลองกะทะ มีปริมาณน้ำ 1.11 ล้าน ลบ.ม.(25.60% ของความจุ) จัดสรรน้ำให้การประปาส่วนภูมิภาค วันละ 5,000 ลบ.ม.มีน้ำใช้ได้ประมาณ 190 วัน 2. ปริมาณฝนสะสม ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม เท่ากับ 86.50 มิลลิเมตร
จากปริมาณน้ำที่มีตามอ่างเก็บน้ำต่าง คิดว่าในส่วนของจังหวัดภูเก็ตจะมีน้ำใช้ได้ไปจนถึงปลายเดือน พ.ค. แต่จะต้องจ่ายน้ำตามที่ชลประทานกำหนดเท่านั้น คือการจำกัดจำนวนในการปล่อยน้ำให้กับทางการประปา
ด้านนายไกรสร มะหะหมัด ผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาคสาขาภูเก็ต กล่าวว่า จากปริมาณน้ำที่ทางชลประทานจ่ายให้กับการประปามีจำนวนจำกัดทางการประปาจึงจำเป็นที่จะต้องจัดหาแหล่งน้ำสำรองเพื่อนำมาใช้ในการผลิตน้ำประปา ซึ่งขณะนี้การจัดหาแหล่งน้ำสำรวจมีความก้าวหน้าไปมากแล้ว  ซึ่งการบริหารจัดการน้ำประปามีรายละเอียดดังนี้
ประปาเขตอำเภอถลาง  การประปาภูมิภาค สาขาภูเก็ต ใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ ลดจาก 26,000 ลบ.ม./วัน เหลือ 17,000 ลบ.ม./วัน ยังไม่มีแหล่งน้ำอื่นมาเพิ่ม 2. ประปาเขต อำเภอเมือง และ อำเภอกะทู้  การประปาส่วนภูมิภาค สาขาภูเก็ต ใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำบางวาด ลดจาก 36,000 ลบ.ม./วัน เหลือ 24,000 ลบ.ม./วัน มีแหล่งน้ำสำรอง คือ  ขุมตลาดน้ำกะทู้ ขุมน้ำตากแดด ขุมน้ำแฝด
3. กองประปาเทศบาลนครภูเก็ต เขตอำเภอเมือง ใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำบางวาด ลดจาก 18,000 ลบ.ม./วัน เหลือไม่เกิน 12,000 ลบ.ม./วัน  4. ประปาเขตอำเภอเมือง โรงกรองน้ำการประปาส่วนภูมิภาค อ่างเก็บน้ำคลองกะทะ ใช้น้ำจากอ่างฯ 5,000 ลบ.ม./วัน  (ข้อมูล ณ  21 เมษายน 2562)
นายไกรสร กล่าวต่อไปว่า สำหรับพื้นที่ที่กำลังประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำมากที่สุดในขณะนี้คือประชาชนในพื้นที่ ต.รัษฎา ซึ่งแรงส่งน้ำส่งไม่ถึง ทำให้ประชาชนไม่มีน้ำใช้ ซึ่งทางการประปาได้นำน้ำใส่รถเพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนมาตั้งแต่เดือนมีนาคม จนถึงขณะนี้ โดยช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนแล้ว กว่า 6,000 ครัวเรือน ซึ่งขณะนี้ทางการประปามีรถบรรทุกน้ำเพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนจำนวน 10 คัน หากชาวบ้านเดือดร้อนสามารถแจ้งไปยังท้องถิ่นเพื่อประสานรถน้ำไปแจกจ่ายน้ำได้