ชาวบ้านรุกขอทำกินบริเวณหาดสุรินทร์ หลังถูกรื้อ 3 ปี แต่ไร้การเหลียวแล

โพสเมื่อ : Monday, November 27th, 2017 : 3.16 pm

ชาวบ้านหาดสุรินทร์ จ.ภูเก็ต  รวมตัวยื่นหนังสือ ขอ อบต.เชิงทะเล จัดสรรที่ทำกินให้ หลังรัฐจัดระเบียบชายหาดมานาน 3 ปี แต่ยังไร้วีแววการจัดสถานที่รองรับ พร้อมเรียกร้องแก้ปัญหาสารพัดในพื้นที่

เมื่อเวลา 9.30 น.ชาวบ้านหาดสุรินทร์ ต.เชิงทะเล  อ.ถลาง  จ.ภูเก็ต  ประมาณ 100 คน รวมตัวกันที่บริเวณหาดสุรินทร์ ต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เพื่อเรียกร้องและยื่นหนังสือถึง นายกอบต.เชิงทะเล นายอำเภอถลาง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต อธิบดีกรมที่ดิน  เพื่อเรียกร้องให้แก้ปัญหาความเดือดร้อน ของชาวบ้านซึ่งเคยประกอบอาชีพขายของและ หาบเร่แผงลอย ที่หาดสุรินทร์ หลังจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดระเบียบชายหาด และรื้อร้านค้าบริเวณชายหาดออกทั้งหมด ส่งผลให้ไม่มีที่ทำกิน  โดยมีนายเสกสันต์ ขาวสุด ปลัดอาวุโสอำเภอถลาง พ.ต.ท.ประสิทธิ์ ยอดทอง รอง ผกก.ป. สภ.เชิงทะเล พ.ท.สุรศักดิ์ พึ่งแย้ม รอง ผบ.ร 25 พัน 2 ชุดรักษาความสงบ จ.ภูเก็ต ประธานสภา อบต.เชิงทะเล กำลังผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่ทาหาร ตำรวจ ทัพเรือภาคที่ 3 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายประดับ โกลิยานนท์ และ นายธีรเดช ก้องสิทธิเดช ชาวบ้านที่มารวมตัวยื่นหนังสือ  กล่าวว่า การเดินทางมารวมตัวของชาวบ้านในครั้งนี้ เพื่อเรียกร้องให้ อบต.เชิงทะเล จัดหาสถานที่ทดแทน เพื่อให้ชาวบ้านประกอบอาชีพได้ หลังจากก่อนหน้านี้ทางจังหวัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและท้องถิ่นร่วมกันจัดระเบียบชายหาดและรื้ออาคารซึ่งทาง อบจ.สร้างไว้ให้ชาวบ้านใช้ประกอบอาชีพ รวมทั้งร้านค้าแผงลอย ทำให้ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ โดยขณะนี้ระยะเวลาล่วงเลยมา 3 ปี แล้วจึงอยากให้เร่งดำเนินการเรื่องนี้โดยด่วนเพราะชาวบ้านกำลังได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก สำหรับการยื่นหนังสือเรียกร้องในครั้งนี้ มี 12 ข้อด้วยกัน ประกอบด้วย

  1. ให้นายกอบต.เชิงทะเลทำหนังสือรับรองถูกต้องตามกฎหมาย ยินยอมให้ค้าขายในที่สาธารณะได้ , 2. อ้างคสช. ที่ให้จัดระเบียบชายหาด แต่กลับมารื้อถอนร้านค้าชาวบ้าน ทำถูกต้องหรือไม่ ,3. อาชีพหมอนวดของชาวบ้านให้มีไว้คงเดิม จัดทำให้มีใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย ,4. จัดทำหลักเขตแผนที่ ที่ดิน 250 ไร่ให้ชัดเจน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2474 ,5. ต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่ช่วยชีวิตทางน้ำและอุปกรณ์ช่วยชีวิตแก่นักท่องเที่ยว

  1. ให้นายก อบต.เชิงทะเล จัดการสร้างห้องน้ำสาธารณะไว้อย่างน้อย 2 จุด ไว้บริการแก่นักท่องเที่ยวและชาวบ้านที่มาออกกำลังกาย 7. ไฟฟ้าชายหาดหรือสนามหญ้าต้องสว่าง ปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวและชาวบ้าน 8. สนามหญ้าต้องตกแต่งให้ดูสะอาดปลอดภัยตลอดทั้งปี 9. ตรวจสอบการสร้างสนามฟุตบอลที่หาดสุรินทร์ 10. การแก้ปัญหาร่มเตียงชายหาด สองมาตรฐานหรือไม่ 11. ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร ใบอนุญาตการก่อสร้างต่างๆ เช่น บ่อบำบัดน้ำเสีย ศาลาเฉลิมพระเกียรติ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเที่ยว เขื่อนชายหาด และโรงแรม และ 12. ถนนในหมู่บ้านหาดสุรินทร์ ชำรุดเสียหาย ใครรับผิดชอบ

อย่างไรก็ตามสำหรับหาดสุรินทร์ หลังจากที่มีการจัดระเบียบชายหาด ได้กำหนดให้เป็นหาดเทิดพระเกียรติ ซึ่งห้ามให้ให้มีการบุกรุก หรือวางสิ่งของต่างๆได้  แต่อย่างไรก็ตามจากการลงพื้นที่ไปตรวจสอบว่า บริเวณหาดสุรินทร์ฝั่งตรงข้ามถนนก่อนที่จะถึงชายหาดมีการตั้งร้านขายของจำนวนหลายร้านด้วยกัน ส่วนอีกฝั่งหนึ่งเป็นการตั้งร้าน แบบมีการตั้งโต๊ะเก้าอี้เพื่อให้นั่งได้ด้วย ส่วนอีกด้านก็มีการตั้งโต๊ะสำหรับขายน้ำผลไม้ รวมทั้งรถเข็น ซึ่งชาวบ้านมองว่าเป็นภาพลักษณ์ที่สวยงามและไม่มีความเป็นระเบียบ จึงอยากให้มีการจัดสถานที่ที่เหมาะสมและจัดระเบียบให้เรียบร้อยเพื่อความสวยงามของชายหาด

ขณะที่ พ.ท.สุรศักดิ์ พึ่งแย้ม รอง ผบ.ร.25 พัน 2 กล่าวว่า “ตามปกติแล้วทางทหารไม่อนุญาตให้มีการจัดตั้งหรือทำธุรกิจใดๆ บนพื้นที่ชายหาดสุรินทร์ เพราะชายหาดแห่งนี้ถูกกำหนดให้เป็นหาดเทิดพระเกียรติ และได้เจรจากับชาวบ้านและอะลุ่มอล่วยให้ย้ายเครื่องมือทำกินจากชายหาดขึ้นมายังบริเวณถนนเลียบหาดชั่วคราวก่อน เนื่องจากทางเทศบาลยังอยู่ในช่วงหาพื้นที่ให้กับชาวบ้านได้ทำมาหากิน ส่วนชาวบ้านกับ อบต.มีการตกลงกันอย่างไรตนไม่ทราบ และไม่เคยได้รับแจ้งเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในส่วนของตนก็มีหน้าที่ดูแลไม่ให้มีการกลับลงไปทำอาชีพบนชายหาดเท่านั้น

อย่างที่ทราบในการจัดระเบียบชายหาดที่ภูเก็ตมีการแบ่งชายหาดออกเป็น 3 ประเภท คือ 1.หาดเทิดพระเกียรติ ซึ่งอยู่ที่หาดสุรินทร์ 2 หาดจัดระเบียบ โดยมีทั้งหมด 9 ชายหาด แบ่งพื้นที่จัดระเบียบออกเป็น ให้ตั้งร่มได้ 10 %  และ 3.หาดอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งมีทั้งหมด 33 หาด เช่น กาดที่เกาะราชา หาดยะนุ้ย แหลมกา แหลมทราย ซึ่งหาดเหล่านี้พบว่ามีการบุกรุกเข้าไปวางร่ม เตียงแล้วเช่นกัน ทางจังหวัดจะมีการหารือเพื่อจัดระเบียบชายหาดเหล่านี้ในเร็วนี้