จี้ท่าอากาศยานภูเก็ตเร่งแก้ปัญหาทรัพย์สินผู้โดยสารสูญหาย

โพสเมื่อ : Tuesday, April 2nd, 2019 : 4.40 pm

ผู้ตรวจราชการลงพื้นที่ท่าอากาศยานภูเก็ตติดตามแก้ปัญหา ทรัพย์สินของผู้โดยสารหายในท่าอากาศยานภูเก็ต ระบุต้องเร่งแก้ปัญหาเนื่องจากส่งผลต่อภาพลักษณ์การรักษาความปลอดภัย
วันนี้ ( 2 เม.ย.)  ที่ห้องประชุมชั้น 5 สำนักงานท่าอากาศยานภูเก็ต อ.ถลาง จ.ภูเก็ต พลเอก วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วย นายวทัญญู ทิพยมณฑา รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และ พันโท เทพจิต วีณะคุปต์ ผู้อำนวยการสำนักสอบสวน 4 ลงพื้นที่ตรวจสอบระบบมาตรการรักษาความปลอดภัยการขนถ่ายสัมภาระของผู้โดยสารภายในท่าอากาศยานภูเก็ต
หลังมีทรัพย์สินสูญหายระหว่างการขนย้ายสัมภาระ โดยหารือร่วมกับ นายวิจิตต์ แก้วไทรเทียม รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ต สายปฏิบัติการและบำรุงรักษา นายบรรพต สอนโต ผู้อำนวยการฝ่ายรักษาความปลอดภัยท่าอากาศยานภูเก็ต  พ.ต.ต.ประวัติ ตันติปุษปรรฆ์ สารวัตรปราบปราม สถานีตำรวจภูธรสาคู ตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง บริษัทเอกชนที่รับจ้างขนถ่ายสัมภาระ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมลงพื้นที่ตรวจการดำเนินการขนถ่ายสัมภาระของผู้โดยสารและบริเวณลานจอดอากาศยานภายในท่าอากาศยานภูเก็ต เนื่องจากท่าอากาศยานภูเก็ตได้เคยพบเหตุทรัพย์สินสูญหายเช่นกัน
พลเอก วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาเรารับทราบถึงปัญหา ว่า มีผู้โดยสารที่เดินทางโดยเครื่องบินบางคนนำทรัพย์สินมีค่าบรรจุไว้ในกระเป๋าเดินทางและโหลดใต้ท้องเครื่องบิน เมื่อถึงปลายทางปรากฏว่าทรัพย์สินที่บรรจุไว้ในกระเป๋าเดินทางสูญหาย ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าเรื่องดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ด้านมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยภายในท่าอากาศยานของประเทศไทย
โดยปัญหาดังกล่าวต้องเร่งพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาโดยเร็ว ทั้งนี้ได้เคยลงพื้นที่ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และให้ข้อเสนอแนะกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว จากการตรวจสอบพบว่ามีมาตรการรักษาความปลอดภัยค่อนข้างรัดกุม ทั้งการควบคุมการผ่านเข้า – ออก ของบุคลากรและยานพาหนะ การจัดชุดสายตรวจ ติดตั้งกล้องวงจรปิดหรือ CCTV กว่า 795 ตัว
อย่างไรก็ตามการลงพื้นที่ ได้เสนอแนะให้ดำเนินการมาตรการระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้น ให้การท่าฯ ติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่มเติมในบริเวณจุดเสี่ยง เพ็งเล็งจุดที่มีสถิติการเกิดเหตุ เช่น บริเวณพื้นที่เก็บสัมภาระใต้ท้องเครื่องบิน สายพานด้านในอาคาร – ด้านนอกอาคาร และบริเวณจุดจอดอากาศยานเพื่อให้เห็นการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ภาคพื้น และตรวจสอบปรับปรุงไม่ให้กล้องชำรุดเสียหาย สามารถใช้งานได้ทุกตัว รวมถึงปรับมุมกล้องให้เหมาะสมไม่ถูกสิ่งอื่นบดบัง หากมีป้ายโฆษณาบดบังมุมกล้องก็ควรเปลี่ยนตำแหน่งติดตั้งป้าย
สำหรับระยะยาว ให้การท่าฯ จัดทำแผนแม่บทระบบความปลอดภัย โดยคำนึงถึงภารกิจและระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ให้ครบถ้วน ทั้งการดูแลรักษาทรัพย์สินราชการและผู้โดยสาร จัดระเบียบการจอดรถ และการป้องกันการก่อเหตุร้ายภายในท่าอากาศยาน อีกทั้งได้เน้นย้ำให้เข้มงวดในการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมและยาเสพติดของเจ้าหน้าที่ด้วย  หากดำเนินการมาตรการเชิงป้องกันได้อย่างจริงจังแล้ว เชื่อว่าปัญหาก็จะลดลง ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์การรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นอน