กรรมาธิการท่องเที่ยวลงภูเก็ตติดตามปัญหา เอกชนจับมือนำเสนอปัญหาอุปสรรค

โพสเมื่อ : Monday, December 2nd, 2019 : 6.39 pm

คณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว สภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่ภูเก็ต ติดตามปัญหาและแนวทางการพัฒนาท่องเที่ยวภูเก็ต ภาคเอกชน และผู้ประกอบการท่องเที่ยว นำเสนอปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาส่วนใหญ่ติดปัญหาที่หน่วยงานรัฐ

เมื่อเวลา 09.30 น.วันนี้ (2 ธ.ค.) คณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว สภาผู้แทนราษฎร์ นำโดย นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล ประธานคณะกรรมการการท่องเที่ยวฯ พร้อมด้วย นางสิรินทร รามสูต รองประธานฯคนที่ 1 นายนัทธี ถิ่นสาคู รองประธานฯคนที่ 2 และคณะกรรมการธิการการท่องเที่ยว ได้ประชุมร่วมกับผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง หอการการค้าจังหวัดภูเก็ต สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว สภาอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรม สมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ สมาคมโรงแรมหาดป่าตอง หาดกะตะกะรน สมาคมมัคคุเทศก์อาชีพ บริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด ชมรมที่พักบูติกภูเก็ต นายสุทา ประทีป ณ ถลาง ส.ส.ภูเก็ต เขต 1 เข้าร่วม ณ ห้องประชุมหมี่หุ้น บริษัท ภูเก็ตพัฒนา เมือง จำกัด เพื่อรับทราบสถานการณ์การท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต รวมถึงปัญหาและอุปสรรในการพัฒนาการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต และแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวของภูเก็ต

โดยภาคเอกชนและผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวได้ร่วมกันนำเสนอปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการท่องเที่ยวของภูเก็ต เพื่อให้ทางกรรมาธิการท่องเที่ยวได้นำไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาต่อไป ซึ่งปัญหาที่ร่วมกันนำเสนอนั้น ไม่ใช่ปัญหาใหม่แต่อย่างใด แต่เป็นปัญหาเก่าๆ ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน ถนนหนทาง ที่ทำให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด โครงการอุโมงค์ป่าตองที่ยังไม่เกิดขึ้น ถนนสายฉลอง-ป่าตอง ถนนคู่ขนานกับสายเทพกระษัตรี ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าที่ผลักดันกันมานานแต่ยังไม่ได้รับการสนับสนุน ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหานักท่องเที่ยวที่ลดลง ปัญหาสล็อตของสนามบินภูเก็ต ที่ทำให้สายการบินจากเมืองใหม่ๆ ไม่สามารถบินตรงมาภูเก็ตได้ ปัญหามัคคุเทศก์ที่งานลดลงถูกไกด์ต่างชาติแย่งงาน ปัญหาความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ปัญหาร่มเตียงชายหาด รวมไปถึงกฎระเบียบและกฎหมายต่างๆ ที่ไม่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ ปัญหาการบริการจัดการเมือง ที่ระบบราชการไม่สามารถตอบโจทก์การเป็นเมืองท่องเที่ยวของภูเก็ตได้ เป็นต้น

นายก้องศักดิ์ คู่พงศกร นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ ได้กล่าวถึงสถานการณ์การท่องเที่ยวของภูเก็ต ว่า ภูเก็ตกำลังจะเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น ตั้งแต่เดือนพ.ย.-ธ.ค.ของทุกปี แต่ในระยะหลังไฮซีชั่นของภูเก็ตสั้นลงจะเริ่มประมาณต้นเดือน ธ.ค.โดยเฉพาะปีนี้ดูจากผลประกอบการของโรงแรมต่างๆ จะเห็นว่าผลประกอบการลดลง ในขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวที่ทาง ททท.และ กระทรวงท่องเที่ยว รายงานตัวเลขไม่ได้ลดลง แต่อัตราการเข้าพักโรงแรมลดลงอย่างน้อยร้อยละ 10-20 ขึ้นอยู่กับศักยภาพของโรงแรมแต่ละแห่ง เช่น โรงแรมหน้าหาดป่าตองบางแห่งแขกเข้าพักเต็มในช่วงไฮซีซั่นนี้ แต่ถ้าเป็นโรงแรมที่อยู่ในถนนสาย 2 สาย 3 อัตราเข้าพักลดลงเหลือร้อยละ 50-60 รวมไปถึงหาดอื่นๆ ที่ไม่ใช่หาดที่มีชื่อเสียง ทั้งป่าตอง กะตะกะรน กมลา สุรินทร์ อัตราเข้าพักยังต่ำอยู่แม้ว่าภูเก็ตจะเข้าอยู่ไฮซีซั่นแล้วก็ตาม

ทั้งส่วนหนึ่งเกิดจากห้องพักในภูเก็ตที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ไม่ต่ำกว่า 3,000 แห่ง ห้องพักไม่ต่ำกว่า 250,000 ห้อง ที่เปิดขายกันอยู่ในอะโคดา ทั้งที่ขึ้นทะเบียนถูกต้อง และไม่ได้ขึ้นทะเบียน โดยที่ขึ้นทะเบียนมีเพียง 580 แห่ง ห้องพัประมาณ 50,000 ห้อง ส่วนที่เหลืออยู่ในขั้นตอนการจดทะเบียนโรงแรมให้ถูกต้อง และยังมีห้องพักที่ขายรายวันเหมือนโรงแรมจากคอนโดมิเนียมและอพาร์ทเมนท์อีกมากมาย

นายก้องศักดิ์ กล่าวต่อว่า ทางสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้สนับสนุนที่จะให้มีการนำโรงแรมที่ได้จดทะเบียนโรงแรมให้ถูกต้องมาจดทะเบียนให้ถูกต้อง ซึ่งของภูเก็ตนั้นได้ยื่นขอไว้กว่า 1,000 แห่ง เพื่อเป็นการแก้ปัญหาโรงแรมผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นโรงแรมขนาดเล็ก แต่โรงแรมเหล่านี้จะต้องมาใช้กฎหมายเดียวกับโรงแรมขนาดใหญ่ที่มีรายละเอียดจำนวนมากและมีการลงทุนสูง ทำให้โรงแรมเล็กไม่สามารถเข้าสู่ระบบได้ ซึ่งจุดนี้หน่วยงานภาครัฐน่าที่จะมีกฎระเบียบที่แตกต่างกันออกไป เพื่อรองรับโรงแรมขนาดเล็กต่อไป

ขณะที่ นายสรายุทธ มัลลัม ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต ได้นำเสนอปัญหาสล๊อตของสนามบินภูเก็ต ไม่เพียงพอ เป็นอุปสรรคในการดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ และจากเมืองใหม่เข้ามาภูเก็ต เพราะสายการบินเหล่านั้นไม่สามารถที่จะขอสล๊อตในการบินตรงมาภูเก็ตได้ ไม่ว่าจะเป็นจากอินเดีย ตะวันออกกลาง เวียดนาม และอีกหลายๆเมือง ทั้งๆ ที่ผู้ประกอบการได้ไปทำโรดโชว์ส่งเสริมการขาย นักท่องเที่ยวอยากมา แต่ไม่สามารถมาได้ ทำให้ภูเก็ตเสียโอกาสในการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว

ปัญหาเรื่องความปลอดภัย เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่มีการหยิบยกมาหารือ ทั้งในส่วนของปัญหานักท่องเที่ยวจมน้ำเสียชีวิต ไลฟ์การ์ดและอุปกรณ์ช่วยชีวิตไม่เพียงพอในบางหาด มีการเสนอให้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว เป็นต้น ปัญหาร่มเตียงชายหาด ที่ผู้ประกอบการชายหาดต้องการเพิ่มร่มเตียงจาก 10% เป็น 30% โดยก่อนหน้านี้ทางผู้ประกอบการร่มเตียงได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว ที่รัฐสภา เพื่อขอเพิ่มพื้นที่สำหรับให้บริการร่มเตียงเป็น 30% และเมื่อวาน (1 ธ.ค.) คณะกรรมาธิการได้ลงพื้นที่ติดตามและตรวจสอบการให้บริการของผู้ประกอบการและการใช้บริการของนักท่องเที่ยว ที่หาดป่าตอง

นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล ประธานคณะกรรมการการท่องเที่ยว สภาผู้แทนราษฎร กล่าวภายหลังการหารือร่วมกับภาคเอกชนของภูเก็ต ว่า การเดินทางลงพื้นที่ภูเก็ตของคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยวในครั้งนี้เพื่อรับฟังปัญหาของผู้ประกอบการและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เพื่อนำปัญหาที่ได้รับทราบในวันนี้ไปศึกษาต่อและหากปัญหาใดไม่สามารถแก้ไขได้ก็จะนำเข้าสู่การทำงานของคณะอนุกรรมาธิการเพื่อศึกษาและแก้ไขเป็นเรื่องๆไป

สำหรับปัญหาเร่งด่วนที่จะต้องได้รับการแก้ไปเพื่อให้การท่องเที่ยวของภูเก็ตเติบโตต่อไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว โดยมีการเสนอให้ตั้งศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว ที่มีอุปกรณ์เครื่องมือ บุคลากร พร้อม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว ปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงไฮซี่ชั่น ปัญหาการจราจรติดขัด ปัญหาไม่มีสล๊อตของสนามบินภูเก็ต

นายสุรศักดิ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่ผู้ประกอบการร่มเตียงชายหาดขอเพิ่มพื้นที่ให้บริการจาก 10% เป็น 30% ว่า ทางผู้ประกอบการร่มเตียงภูเก็ตได้ยื่นหนังสือขอขยายพื้นที่ให้บริการกับทางกรรมาธิการท่องเที่ยวไปก่อนหน้านี้แล้ว ที่รัฐสภา และทางกรรมาธิการได้เชิญผู้ประกอบการไปให้ข้อมูลแล้ว รวมทั้งได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามตรวจสอบการให้บริการและการใช้บริหารของนักท่องเที่ยว การปัญหาร่มเตียงของภูเก็ตนั้นทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันแก้ปัญหาและยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ทางกรรมาธิการได้นำเข้าสู่การศึกษาอนุกรรมาธิการท่องเที่ยวแล้ว เพราะขณะนี้ข้อมูลที่ทางกรรมาธิการได้รับมานั้นไม่ตรงกัน บางฝ่ายบอกว่าไม่มีร่มเตียงทำให้นักท่องเที่ยวไม่มาภูเก็ต ซึ่งเรื่องนี่จะต้องมีการศึกษาข้อมูลให้ละเอียดในทุกๆด้าน และความเหมาะสมของพื้นที่ที่จะให้บริการร่มเตียง

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ได้รับการสะท้อนจากภาคเอกชน และผู้ประกอบการท่องเที่ยวในภูเก็ต จะนำไปสอบถามกับหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดภูเก็ตในวันพรุ่งนี้ ปัญหาใดที่สามารถแก้ไขได้ในระดับจังหวัดก็จะดำเนินการในระดับจังหวัด ส่วนปัญหาใดไม่สามารถแก้ไก้ได้ก็จะนำเสนอไปยังหน่วยงานในส่วนกลางต่อไป

นายนัทธี ถิ่นสาคู รองประธานกรรมาธิการการท่องเที่ยว คนที่ 2 และ ส.ส.ภูเก็ต เขต 2 กล่าวว่า การจะเพิ่มหรือไม่เพิ่มร่มเตียงในบริเวณชายหาดนั้น สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นเรื่องแรก คือ ความต้องการของนักท่องเที่ยว ว่าจำนวนที่มีอยู่ในปัจจุบัน 10% นั้น เพียงพอหรือไม่ การพิจารณาไม่ได้ยึดถือความต้องการของผู้ประกอบการเป็นหลัก สมมุติว่าถ้าจะเพิ่มให้เต็มหาดเหมือนเดิมนั้น โดยส่วนตัวก็ไม่เห็นด้วย เพราะได้มีการจัดระเบียบมานานแล้ว แต่ถ้าจะเพิ่มจะต้องเพิ่มในสัดส่วนเท่าไร กติกาที่ต้องกำหนดร่วมกัน ซึ่งเรื่องนี้จะนำเข้าสู่การพิจารณาของกรรมาธิการอีกครั้งหนึ่ง