แชร์ลูกโซ่ต้องรู้เท่าทัน ภูเก็ตจัดสัมมนาให้ความรู้“รู้ทันแชร์ลูกโซ่ รู้ทันแม่ทีม รู้ทันสินค้าปลอมแปลง

โพสเมื่อ : Thursday, November 9th, 2017 : 7.07 pm

จังหวัดภูเก็ตร่วมกับสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทยจัดสัมมนา “รู้ทันแชร์ลูกโซ่ รู้ทันแม่ทีม รู้ทันสินค้าปลอมแปลง สังคมปลอดภัย ประเทศไทยยั่งยืน” เพื่อเป็นการดำเนินการป้องกันไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพที่แอบแฝงในรูปแบบต่างๆ

วันนี้ (9พ.ย.) ที่ห้องประชุมชั้น 2 อาคารคอซิมบี้ ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายนรภัทร ปลอดทองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดการสัมมนา เรื่อง “รู้ทันแชร์ลูกโซ่ รู้ทันแม่ทีม รู้ทันสินค้าปลอมแปลง สังคมปลอดภัย ประเทศไทยยั่งยืน” ซึ่งทางจังหวัดภูเก็ตร่วมกับสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดขึ้น เพื่อให้ความรู้กับประชาชน ป้องกันการถูกหลอกลวงและตกเป็นเหยื่อของแชร์ลูกโซ่ โดยมี นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่ฯ พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์ศรีนิล รองอธิบดี ดีเอสไอ  หัวหน้าส่วน

นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่ฯ กล่าวว่า การสัมมนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการดำเนินการป้องกันไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพที่แอบแฝงในรูปแบบต่างๆ อันสลับซับซ้อนยิ่งและยากแก่การป้องกัน ในเชิงของการป้องกันมิให้ประชาชนหลงเชื่อเป็นเหยื่อ ซึ่งจะได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมในรูปแบบแชร์ลูกโซ่หรือรูปแบบอาชญากรรมใหม่ๆ ที่มีการพลิกแพลงรูปแบบในการหลอกลวงประชาชน นอกเหนือจากการช่วยเหลือภาคราชการในด้านการแจ้งเบาะแส สนับสนุนข้อมูลด้านการสืบสวนปราบปราม ซึ่งที่ผ่านมาได้มีผลงานด้านการช่วยเหลือและสนับสนุนข้อมูลภาครัฐจำนวนมากคดีฉ้อโกงประชาชน เช่น แชร์ตู้คอนเทรนเนอร์, แชร์น้ำมันหอมระเหย, อาชญากรรมข้ามชาติบริษัทยูฟันสโตร์ จำกัด, แชร์ทองคำปีกาซัส เป็นต้น

“กลุ่มเป้าหมายในครั้งนี้จะเป็นกำนันผู้ใหญ่บ้าน ข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะมีข้อมูลชัดเจนว่า เมื่อตกเป็นเหยื่อของแชร์ลูกโซ่จะลำบากมาก แม้ว่าหน่วยงานของรัฐพยายามที่จะปราบปราม แต่นอกเหนือจากนั้นคือการให้ความรู้กับกลุ่มเหมายที่ถูกต้อง เพราะกำนันผู้ใหญ่บ้านถือเป็นผู้นำชุมชนโดยสภาพ มีต้นทุนทางสังคมสูง หากกำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน 1 คน ตกไปอยู่ในวงจรของแชร์ลูกโซ่ก็อาจจะทำให้ลูกบ้านตกเป็นเหยื่อของแชร์ลูกโซ่ไปด้วย เพราะแชร์ลูกโซ่ขยายวงเร็วมาก โดยเฉพาะปัจจุบันซึ่งมีพัฒนาการและสามารถเข้าถึงได้ง่ายผ่านทางโซเซียลมีเดียต่าง ๆ ดังนั้นที่สำคัญคือการให้ความรู้ที่ถูกต้อง ว่าแชร์ลูกโซ๋คืออะไร และแชร์ลูกโซ่ไม่ใช่ธุรกิจ แต่เป็นการหลอกหลวงหรือกลอุบายที่ให้คนหลงเชื่อว่ามีธุรกิจอยู่จริง โดยเชิญวิทยากรผู้มีความรู้ด้านต่างๆ เช่น  สคบ. ปปง.” นายสามารถกล่าว

นายสามารถ กล่าวต่ออีกว่า ต้องยอมรับว่าโลกปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็ว หรือเป็นยุค 4.0 จึงทำให้อาชญากรรมทางเศรษฐกิจหรือแชร์ลูกโซ่ค่อนข้างระบาดเร็วมาก หากเราไม่มีกฎหมายที่คุ้มครองประชาชนได้จะค่อนข้างลำบาก เช่น แชร์แม่ชะม้อย แชร์แม่ลูกแก้ว เป็นต้น กว่าจะได้เงินคืนต้องใช้เวลานานถึง 30 ปี  และกระบวนการคืนเงินก็ค่อนข้างช้า แต่ทำอย่างไรไม่ให้คนเข้าไปอยู่ในวงจรนี้ เพราะหากเงินออกนอกระบบเศรษฐกิจของประเทศไม่สามารถขับเคลื่อนได้ เป็นเรื่องใหญ่

ส่วนความเสียหายที่เกิดกับเศรษฐกิจนั้นค่อนข้างมหาศาล เช่น แชร์แม่ชะม้อย เมื่อปี 2527 เสียหาย 4,000 ล้านบาท หรือ40,000 ล้านบาทในปัจจุบัน เป็นต้น ซึ่งในปี 2560 มีรูปแบบของแชร์ลูกโซ่หลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะแชร์ออนไลน์ซึ่งมีบทบาทค่อนข้างมาก คาดว่าปีละไม่ต่ำกว่าหนึ่งแสนล้านบาท เช่น กรณีที่ดีเอสไอมาช่วยเหลือผู้เสียหายปักแอนด์เบย์หรือคดีหมอตุ๋นหมอ ความเสียหายแต่ละคดีไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท และยังมีบางส่วนที่ไม่ออกมาแจ้งความอีกเป็นจำนวนมาก